นับเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่อีกคนที่ยืนอยู่แถวหน้าด้านสิทธิมนุษยชน โลดแล่น อยู่บนถนนสายว่าความคดี 112 ขยับขึ้นตัวหลักของพรรคค่ายสีส้ม ขับเคลื่อนนิรโทษกรรมคดีอ่อนไหวให้บรรลุผล

ในสมรภูมิคดีการเมืองรู้จักเธอดีในนาม “ทนายแจม” น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กทม. พรรคประชาชน และโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม (กมธ.) ได้แย้มประตูให้เห็นทางออกนิรโทษกรรมคดีอ่อนไหวทางการเมือง

ระหว่างที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรกำลังพิจารณารับรองรายงานของ กมธ.อย่างเข้าด้ายเข้าเข็ม ประเด็นหลักการ “นิรโทษกรรม” ไม่ใช่ยกเลิกความผิด การกระทำนั้นยังเป็นความผิดตามกฎหมายอยู่ เพียงเห็นสมควรยกเว้นความผิดเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง ให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

นิรโทษกรรมเป็นเครื่องมือนำพาประเทศให้เดินหน้าต่อ ไม่ให้จมปลักอยู่กับความขัดแย้งจนหยุดอยู่กับที่หรือถอยหลัง ในอดีตมีกฎหมายนิรโทษกรรมมาแล้ว 23 ฉบับ ซึ่งเป็นพ.ร.บ. 19 ฉบับ พระราชกำหนด 4 ฉบับ

รายงานฉบับนี้ไม่ใช่การยกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็นแค่แนวทางตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมว่า ควรรวมหรือไม่รวมการกระทำใดบ้าง มีแนวทางอย่างไรที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ และหากเป็นความเห็นที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ อาจบานปลายสู่ความขัดแย้งในอนาคต

กมธ.ยังได้ศึกษาแนะแนวทางอื่น หาทางออกจากเขาวงกตแห่งความขัดแย้ง และสร้างความเข้าใจอันดีให้เกิดขึ้นในสังคม อาทิ ออก พ.ร.บ.ล้างมลทิน ขอพระราชทานอภัยโทษ

คดีที่มีเหตุจูงใจทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน ที่เป็นคดีหลัก คดีรอง และคดีอ่อนไหว ซึ่งคดีอ่อนไหวทางการเมืองยังมีความเห็นแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมหรือไม่ กับผู้กระทำผิดคดีอาญา 110 และคดีอาญา 112 ไม่ได้ลงมติว่า กมธ.เสียงส่วนใหญ่มีความเห็นอย่างไร

...

เพราะเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ ยังต้องแสวงหาฉันทามติทางสังคมในประเด็นนี้ว่าควรนิรโทษกรรมหรือไม่ โดยแนวทางที่เสนอมา กลุ่ม 1 นิรโทษกรรมไม่รวมคดี 112-กลุ่ม 2 นิรโทษกรรมรวมคดี 112 แบบมีเงื่อนไข-กลุ่ม 3 นิรโทษกรรมรวมคดี 112

หัวใจนิรโทษกรรมไม่นำมาซึ่งความขัดแย้งทางการเมืองครั้งใหม่ ต้องสร้างความปรองดองในชาติ นำไปสู่ความเป็นเอกภาพทางการเมือง ความมั่นคงทางการเมือง

รายงานฉบับนี้ไม่มีผลให้นิรโทษกรรม

น.ส.ศศินันท์ บอกว่า ทั้งหมดขึ้นอยู่ที่รัฐบาลนำผลศึกษาของ กมธ.ไปใช้แค่ไหน และอยากให้เวทีสภาเป็นพื้นที่ถกเถียงเรื่องละเอียดอ่อนได้ หลายองค์กรจากต่างประเทศมีความกังวล ทำให้ภาพลักษณ์ของไทยดูแย่ไปกว่าเดิม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) โหวตไทยให้เป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชอาร์ซี) เป็นโอกาสที่ดีทำให้ต่างประเทศเห็นว่าในสภาควรเป็นพื้นที่ปลอดภัย พูดคุยเรื่องละเอียดอ่อนมากที่สุดได้

หากถูกเซ็นเซอร์ทุกครั้ง แม้กระทั่งรายงานของ กมธ. นอกสภายิ่งทำอะไรไม่ได้ พื้นที่ในสภา สส.ควรทำหน้าที่เข้มแข็ง ตรงไปตรงมา ไม่เกรงกลัวไปทุกอย่าง อยากให้ยืนในหลักการสมกับที่ได้รับเลือกจากประชาชน

โดยทำให้เห็นว่าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชน สภาให้ความสำคัญ

ไม่หยิ่งหย่อนไปกว่าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่เสนอโดยนักการเมือง

เพราะในที่ประชุมสภากำลังพิจารณาประเด็นสำคัญที่สุดในคดีอ่อนไหว มาตรา 110, 112 ควรนิรโทษกรรมหรือไม่ กมธ.ไม่ได้โหวต แต่เปิดฟลอร์ให้ทุกคนแสดงความคิดเห็นเต็มที่ พร้อมมีแนวทาง 3 กลุ่มตามข้างต้น ส่วนใหญ่ใน กมธ.อยู่ตรงกลาง “นิรโทษกรรมรวมคดี 112 แบบมีเงื่อนไข” เช่น ถ้าได้รับนิรโทษกรรมแล้ว ต้องไม่ทำผิดซ้ำภายในกี่ปีๆ

ในฐานะเป็นหัวหน้ากลุ่ม 3 นิรโทษกรรมรวมคดี 112 เป้าชัดเจนไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อลดความขัดแย้ง

 จุดยืนยุคพรรคก้าวไกลจนถึงพรรคประชาชน คือนิรโทษกรรม 112 เต็มที่ หลังผลการศึกษาของ กมธ.จบ จุดยืนของพรรคประชาชนเป็นอย่างไร น.ส.ศศินันท์ บอกว่า ใน กมธ.มีคนของพรรคประชาชน มีทั้งอยู่ในกลุ่ม 2 และกลุ่ม 3

ควรนิรโทษกรรมรวมคดีอาญา 112

“เหตุผลฝั่งที่ไม่เห็นด้วยในเวทีสภา หากประธานไม่ปิดประชุมก่อน คิวถัดไปเป็นแจม สามารถชี้แจงได้ทุกข้อ ใน กมธ.มีฉากทัศน์อะไรที่พูดคุยกัน

เหตุผลที่นิรโทษกรรมรวมคดี 112 แบบมีเงื่อนไข เพราะเป็นคดีการเมือง เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง ไม่เกี่ยวกับคดีแพ่ง คดีอาญา

แม้มี สส.บางคนมองว่าเป็นคดีอาญาทั่วไป ความจริงคดีการเมืองส่วนใหญ่เป็นคดีอาญา จึงขอให้ สส.อ่านรายงานกมธ.ฉบับเต็ม

เมื่อได้เห็นบริบทการเมืองในแต่ละช่วงของความขัดแย้ง รับรองทิ้ง 112 คดีการเมืองไม่ได้ มันเป็นแรงจูงใจในช่วงบริบทนั้นจริงๆ”

ส่วนตัวบทกฎหมาย ในฐานะเป็นทนายทำคดี 112 มาเกือบตลอด คดีแรก อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ก็เอาข้อเท็จจริงในคดี พฤติการณ์ในคดีไปเล่าให้ กมธ.ฟังตลอด

ผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดี 112 มีพฤติการณ์มันไม่ได้ร้ายแรงอย่างที่หลายคนคิด รวมถึงคดี 110 พฤติการณ์จริงๆ ไม่ได้มีเจตนาประทุษร้าย ฉะนั้นคดีไหนเป็นคดีการเมือง ขอให้ดูตัวพฤติการณ์เป็นสิ่งสำคัญ

ท่าทีพรรคประชาชนชัดเจนนิรโทษกรรมรวม 112 หรือนิรโทษกรรมทั้งหมด น.ส.ศศินันท์ บอกว่า ใน กมธ.นิรโทษกรรม 112 แบบมีเงื่อนไข ไม่ใช่เฉพาะพรรคประชาชน แต่มีตัวแทนหลายพรรคการเมืองเห็นด้วย เพราะเป็นข้อเสนอแบบกลางๆ

แต่ยังมีคดี 112 ซึ่งเป็นผู้ป่วยจิตเวชหลายคนในช่วงปี 57-58 ถูกตั้งข้อหาหลังการรัฐประหาร อาจตกหล่น ควรนำเข้าคณะกรรมการกลั่นกรองตาม พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

โดยแพทย์จิตเวชชี้ว่าเป็นไปได้ที่ผู้ป่วยทางจิต คิดว่าตัวเองเป็นเจ้า เป็นเทพเจ้า เวลาสู้คดีค่อนข้างรันทด มองด้วยสายตารู้ทันทีว่าไม่ปกติ กลับต้องมาสู้คดีที่มีโทษค่อนข้างสูง คนเหล่านี้ไม่ได้ตั้งใจ และไม่ได้มีแนวทางการเมืองด้วย

“บรรยากาศการเมืองตอนนี้เหมาะที่สุดกับการนิรโทษกรรม หลังเกิดปรากฏการณ์พรรคคนละขั้ว คนละโลกขัดแย้งมา 20 ปี จับมือ กอดคอเป็นรัฐบาล

นักการเมืองจับมือกันได้ แต่ทำไมปฏิเสธนิรโทษกรรมให้ประชาชนกลับมามีชีวิตปกติ ปล่อยให้เขาต้องติดคุก โดนคดีจากนักการเมืองที่สร้างปัญหา

ทำไมนักการเมืองถึงตั้งเงื่อนไข ไม่ใช่ปรองดองเฉพาะนักการเมืองอย่างเดียว ทำไมไม่ให้อภัย ประชาชนจะได้ปรองดองกันบ้าง

ฉะนั้นไม่เห็นความเป็นไป ไม่ได้ข้อไหนที่นิรโทษกรรมให้ประชาชนในทุกคดีไม่ได้ โดยเฉพาะขณะนี้มีร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม 3-4 ฉบับ จ่อเข้าสภาอยู่

หนึ่งในนั้นเป็นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชน เนื้อหาก้าวหน้ากว่ารายงานของ กมธ.หลายเท่า เชื่อว่าเข้าสู่สภาในสมัยประชุมหน้าแน่นอน”

พรรคเพื่อไทยไม่กล้าพูดเต็มปากอยากให้นิรโทษกรรมคดี 112 อยากให้พรรคประชาชนนำทัพ พรรคเพื่อไทยตามหลัง น.ส.ศศินันท์บอกว่า เป็นไปได้พรรคเพื่อไทยอาจขยาดคำว่า “นิรโทษกรรม” ในช่วงการเมืองยุคหนึ่ง เหมือนนิรโทษกรรมเป็นเผือกร้อน แบบนั้นมันสุดซอย แต่เราเน้นนิรโทษกรรมประชาชนเป็นหลัก

แต่บรรยากาศในที่ประชุมสภาพิจารณารายงานของ กมธ.พรรคร่วมรัฐบาลเหมือนมีรอยร้าวในประเด็นนี้ น.ส.ศศินันท์ บอกว่าใช่พอเข้าใจถึงความกังวลของพรรคร่วมรัฐบาล เชื่อมากๆว่าทุกพรรคกำลังกังวลมากเกินไปในสิ่งที่เรามองไม่เห็นเหมือน “ผีในธี่หยด”

ขอย้ำอีกรอบเป็นแค่รายงานของ กมธ. ไม่ได้เป็นการแก้ไขมาตรา 112 แค่เสนอแนวทาง แค่ขั้นต้นนิรโทษกรรม

ไม่ได้เป็นหัวเชื้อแห่งความขัดแย้ง

เป็นหัวเชื้อแห่งความสมานฉันท์.

ทีมการเมือง

คลิกอ่านคอลัมน์ “วิเคราะห์การเมือง” เพิ่มเติม