"ศ.ดร.เกรียงศักดิ์" นักวิชาการอาวุโส แนะ ถอดบทเรียน หาทางออกการเลือกตั้ง สว.ไทย ปี 2567 หลังถูกวิจารณ์ ระบบการเลือกไม่โปร่งใส มอง มีทางออก 3 ฉากทัศน์ 

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI) ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา(IFD) กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ไทยในปี 2567 ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ได้สร้างความสนใจและข้อถกเถียงอย่างกว้างขวาง เนื่องจากความซับซ้อนของกระบวนการและความแตกต่างจากระบบการเลือกตั้งทั่วไป รวมทั้งคำวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการเลือกตั้งที่ไม่โปร่งใส

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ ได้วิเคราะห์สถานการณ์และนำเสนอมุมมองเกี่ยวกับปัญหาและเสนอทางออกของการเลือกตั้ง สว. เอาไว้ตั้งแต่ วันที่ 2 กรกฎาคม 2567 ในไลฟ์เฟซบุ๊กในประเด็น “เรื่องวุ่นๆ ในสว.: เอาไงดี? โดยวิเคราะห์ไว้ว่า วุฒิสภาไทยไม่ได้ถูกออกแบบให้เป็น "สภาผู้ทรงคุณวุฒิ" อย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่เป็นตัวแทนของกลุ่มอาชีพและอัตลักษณ์ต่างๆ ในสังคม

นอกจากนี้กระบวนการเลือกตั้งขาดความโปร่งใส มีการพบเห็นพฤติกรรมที่ส่อไปในทางทุจริต เช่น การลงคะแนนให้กันเป็นชุด การพบ "โพย" ลักษณะคล้ายบัตรคะแนน และการล็อกคะแนนเพื่อกีดกันผู้สมัครบางคน ประกอบกับระบบไม่ได้ถูกออกแบบให้มีตัวแทนครบทุกจังหวัด ทำให้เกิดความไม่สมดุลในการเป็นตัวแทนของแต่ละพื้นที่ โดยมีบางจังหวัดที่ไม่มีตัวแทน สว. เลย ในขณะที่บางจังหวัดกลับมีตัวแทนมากเกินสัดส่วนการส่งตัวแทนโดยอ้อมของพรรคการเมือง การสนับสนุนจากนายทุน การฮั้วซื้อและซื้อเสียง รวมถึงการหักหลังไม่ลงคะแนนตามที่ตกลงกันไว้ สถานการณ์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าระบบนี้ไม่ได้สร้าง "สภาผู้ทรงคุณวุฒิ" อย่างแท้จริงตามที่ควรจะเป็น

...

ในช่วงก่อนที่ กกต.จะมีมติรับรอง สว. ดร.เกรียงศักดิ์ ได้วิเคราะห์ทางออกไว้ 3 ฉากทัศน์ ได้แก่ 1) การรับรองผลการเลือกตั้งและแก้ปัญหาภายหลัง 2) การชะลอการประกาศรับรองผลและเพิกถอน สว. บางส่วน และ 3) การล้มกระบวนการเลือกตั้งทั้งหมดและจัดการเลือกตั้งใหม่ โดยดร.เกรียงศักดิ์ มองว่า แนวทางที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด คือ การรับรองผลการเลือกตั้งและแก้ปัญหาภายหลัง ซึ่งสุดท้ายพบว่า ตอนนี้ กกต.ได้ประกาศรับรอง สว.แล้วเป็นที่เรียบร้อย สอดคล้องกับที่ดร.เกรียงศักดิ์ได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า


อย่างไรก็ตาม ดร.เกรียงศักดิ์ เน้นย้ำว่าการปฏิรูปประเทศไม่ใช่เพียงแค่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหรือกฎหมาย แต่เป็นการ "สร้างคนดีมีอุดมการณ์" ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ ทั้งในระบบการเมืองและนอกระบบ การปฏิรูปต้องครอบคลุมทุกภาคส่วนของสังคม ไม่ว่าจะเป็นระบบราชการ การศึกษา หรือภาคธุรกิจ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความโปร่งใส ลดการคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาล

ทั้งนี้ การปฏิรูปการเมืองไทยเป็นงานที่ท้าทายและต้องใช้เวลา แต่ไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากคนดีทุกภาคส่วน พร้อมอุทิศตนเพื่อส่วนรวม ด้วยความมุ่งมั่นและอุดมการณ์ที่แน่วแน่ จึงจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนให้กับประเทศได้ในที่สุด