รัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับปัจจุบัน ซึ่งประกาศใช้มาตั้งแต่ต้นปี 2560 เป็นรัฐธรรมนูญสารพัดฉายา นักวิชาการบางคนเรียกว่า “ฉบับวิปริต” แต่คนส่วนใหญ่เรียก “ฉบับสืบทอดอำนาจ” เพราะทำให้คณะรัฐประหาร คสช.สืบทอดอำนาจมาเกือบ 10 ปี หลังจากที่สภาที่ คสช.แต่งตั้ง ไม่ยอมรับร่างฉบับแรกจึงตกไป

ศ.ดร.บวรศักดิ์  อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรก เพิ่งรู้หลังจากที่ร่างถูกตีตก เพราะ “เขาอยากอยู่ยาว” แต่ฉบับ ศ.ดร.บวรศักดิ์ไม่ได้ตอบสนอง นับแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 การเมืองไทยมีปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ส่วนที่มีปัญหามากที่สุดคือเรื่องวุฒิสภา ที่เป็นกลไกสืบทอดอำนาจ

ประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก มี 2 สภา คือ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา มาจากเลือกตั้งทั้งสองสภา ยกเว้นสภาขุนนางอังกฤษ ที่สืบทอดมาตามวงศ์ตระกูล แต่ไม่มีอำนาจทางการเมือง ส่วนวุฒิสภาไทยตามรัฐธรรมนูญ 2560 มี 2 ระยะ ระยะแรกมี สว.250 คน เพื่อให้มีจำนวนมากพอที่จะเลือกนายกรัฐมนตรี

วุฒิสภาระยะต่อมา หลังจากสิ้นบทเฉพาะกาล มีสมาชิกลดลงเหลือ 200 คน เพราะไม่มีอำนาจเลือกนายกฯ สว.ระยะแรกมาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร คสช. ส่วน สว.หลังให้มาจาก “การเลือกกันเอง” ของกลุ่มอาชีพ ผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เริ่มมีปัญหาตั้งแต่การเลือกกันเอง

เป็นวิธีการเลือกสมาชิกรัฐสภา ที่สลับซับซ้อน และแปลกประหลาดพิสดารที่สุด ไม่ใช่ “การเลือกตั้ง” แต่เรียกว่า “การเลือกกันเอง” ที่มีกฎเหล็กควบคุมอย่างเข้มข้น แนะนำตัวเองได้แต่ห้ามหาเสียง ห้ามนักการเมืองช่วยเหลือ ห้ามรับความช่วยเหลือจากนักการเมือง ประชาชนทั่วไปไม่มีสิทธิใดๆในการเลือก สว.

เป็นสภานิติบัญญัติที่ห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ไม่ทราบว่ามีที่ไหนในโลกหรือไม่ แต่ถึงจะมีกฎเหล็กเข้มงวดแต่ยังเอาไม่อยู่ มีการปล่อยข่าวว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องบางส่วนไม่เกรงกลัวกฎหมาย สว.สมชาย แสวงการ ออกมาแฉผ่านเฟซบุ๊กว่า ยังไม่ถึงวันเลือกระดับอำเภอ แต่รู้กันแล้วว่ามี 149 ชื่อ ที่จะได้รับเลือกในระดับชาติ เพราะบล็อกโหวตโพยก๊วน

...

เท็จจริงอย่างไร ไม่มีหลักฐานพิสูจน์ เป็นข่าวจริงหรือข่าวปลอมกันแน่ รัฐบาลจะต้องช่วย กกต.ตรวจสอบ นำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย อย่าปล่อยให้หลักนิติธรรม และกระบวนการยุติธรรมล่มสลาย ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี ผู้เคยสัญญาว่าจะฟื้นฟูหลักนิติธรรม และจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ในวันแรกที่ประชุม ครม.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม