อันสืบเนื่องมาจากการตั้ง พิชิต ชื่นบาน เป็น รมต.ประจำ สำนักนายกฯ ทำเอาการเมืองใน รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน บานทะโรค นายกฯเศรษฐา ก็ต้องไปวัดดวงที่ ศาลรัฐธรรมนูญ จะออกหัวออกก้อย โดยศาลรัฐธรรมนูญให้เวลาส่งหลักฐาน คัดค้านข้อกล่าวหาจาก 40 สว.ภายใน 15 วัน ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการไต่สวน

ระหว่างนี้มีข่าวเกี่ยวกับการดำเนินคดีทางการเมืองในกระบวนการยุติธรรมของ ศาลอาญา และ อัยการสูงสุด หลายคดีด้วยกัน อยู่ระหว่างการให้ประกันตัวในชั้นศาลเพื่อสู้คดีกันต่อไป

คดี ม.112 เป็นคดีที่ค่อนข้างมีความละเอียดอ่อน และถูกกล่าวหาต่างกรรมต่างวาระกัน การพิจารณาลงโทษหนักเบาของศาลยุติธรรมจึงไม่เท่ากัน ว่ากันว่า คดี ม.112 มีอยู่นับร้อยคดี ในจำนวนคดีที่อยู่ระหว่างการดำเนินการทางคดี ปรากฏว่าคดีที่ กองทัพบก ร้องทุกข์กล่าวโทษอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ระหว่างพำนักอยู่ที่ ประเทศเกาหลีใต้ ไปให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศ พาดพิงเข้าข่ายกฎหมายอาญา ม.112 เข้า ถึงจะเป็นข้อกล่าวหาที่นานมากแล้ว แต่เมื่อผู้ถูกกล่าวปรากฏตัว (เคยมีคำสั่งอัยการในขณะที่ผู้ถูกล่าวหาพำนักอยู่ในต่างประเทศไปแล้ว) ทางอัยการสูงสุดจึงนำคดีนี้มาพิจารณาใหม่

และ มีคำสั่งฟ้อง โดยให้ผู้ถูกกล่าวหาไปแสดงตัวและรับทราบข้อกล่าวหาต่อหน้าศาลในวันที่ 18 มิ.ย.นี้ แต่ระหว่างนี้มีข้อถกเถียงว่า จะกระทบกับ การพักโทษ ของ ทักษิณ หรือไม่ ฝ่ายหนึ่งบอกว่าเมื่ออยู่ระหว่างต้องโทษไปกระทำความผิดใหม่อีก ก็ต้องกลับเข้าเรือนจำเพื่อรับโทษ แต่ทางด้าน กระทรวงยุติธรรม ที่ดูแล กรมราชทัณฑ์ ให้เหตุผลว่าไม่กระทบกับการพักโทษ เพราะผู้ถูกกล่าวหายังไม่ถูกตัดสินคดี จึงถือว่า ยังเป็นผู้บริสุทธิ์ ต่างคนยลตามช่อง จะผิดจะถูกศาลสถิตยุติธรรม จะมีคำพิพากษาออกมาในที่สุด

...

ต้องยอมรับว่า คดี ม.112 มีผู้ถูกกล่าวหาทั้งเด็ก เยาวชน ประชาชน และนักการเมือง และเป็นเรื่องที่ถกเถียงอยู่ในกรรมาธิการพิจารณาศึกษา ร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ว่าสมควรจะรวมคดีความผิดเกี่ยวกับ ม.112 เอาไว้ด้วยหรือไม่ เพราะเริ่มต้นจากการเมือง และความขัดแย้งทางการเมือง จึงเป็นเรื่องยากลำบากในการหาข้อยุติ เนื่องจากเกรงกันว่าจะก่อข้อขัดแย้งใหม่ขึ้นมาอีก

คดีล้มล้างการปกครอง คดีกบฏ คดี ม.112 ไม่ใช่เกิดจากความบกพร่องของบทบัญญัติ ตัวบทกฎหมาย แต่เป็นเพราะการบังคับใช้กฎหมาย และสิ่งต่างๆเหล่านี้ ถูกนำไปสรุปรวมเรียกว่า นิติสงคราม บนการช่วงชิงอำนาจทางการเมือง บทสุดท้ายของนิติสงครามจึงไม่มีบทสรุป

ย้อนไปถึงบทบาทของนายกฯเศรษฐาที่เกี่ยวเนื่องกับนิติสงครามและการเมืองสามขั้วอำนาจ การเชิญอดีตรองนายกฯ นักกฎหมายมืออาชีพ นิติบริกร วิษณุ เครืองาม มาเป็นที่ปรึกษานายกฯ มีอำนาจเต็ม ก็ไม่ต่างจากดาบสองคม จะกระทบกับความเชื่อถือของทั้งสองฝ่ายอย่างไรหรือไม่ เป็นอีกบริบท แต่การก้าวย่างทางการเมืองต่อจากนี้ไป

กำลังจะเกิดนิติสงครามระหว่างสามขั้วอำนาจ สงสารประเทศไทย พับผ่า.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th

คลิกอ่านคอลัมน์ “คาบลูกคาบดอก” เพิ่มเติม