หลายคนอาจจะสงสัยกระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ยุคใหม่ คืบหน้าไปถึงไหน คำตอบก็คือ คืบหน้าอีกก้าวหนึ่ง จากการเปิดเผยของนายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่า ศาลปกครองมีคำสั่งให้รับคำฟ้องของตนและคณะไว้พิจารณาแล้ว และนัดไต่สวน 16 พฤษภาคม

คณะผู้ฟ้องขอให้เพิกถอนระเบียบของ กกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวผู้สมัคร สว. ให้แนะนำตัวได้ แต่ห้ามพูดหาเสียง ห้ามสัมภาษณ์สื่อมวลชนในการเลือก สว.ใหม่ 200 คน แทน สว.ปัจจุบัน 250 คน ที่จะพ้นตำแหน่งในเดือนนี้ เป็นการได้มาซึ่ง สว.จากการเลือกกันเองของกลุ่มอาชีพเป็นครั้งแรก

โดยปกติ สว.ไทยมักจะมาจากการแต่งตั้งของผู้มีอำนาจ เช่น คณะรัฐ ประหาร เพื่อสืบทอดอำนาจรัฐประหาร ทำให้เป็นอำนาจที่ชอบธรรมและถูกต้องตามหลักประชาธิปไตย สว.ตามรัฐธรรมนูญบางฉบับ เช่น ฉบับ 2522 มีอำนาจเทียบเท่ากับ สส. เช่น มีสิทธิร่วมอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี

รัฐธรรมนูญ 2522 จึงได้รับฉายา “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” สว.มีอำนาจประชุมร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายร่วมกับ สส. รวมทั้งร่วมลงมติร่าง พ.ร.บ.ทุกฉบับที่รัฐบาลระบุว่าเป็น “เรื่องของความมั่นคง” ของราชอาณาจักรเป็นมาตรการค้ำจุนอำนาจรัฐบาล เช่นเดียวกับ สว.ปัจจุบันที่ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี

รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นฉบับแรกของประเทศไทยที่มี สว. 200 คนมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ได้รับความนิยมจากประชาชนระดับหนึ่ง แต่ถูกวิพากษ์ว่าเป็น “สภาผัวเมีย” เพราะมีสามี-ภรรยาบางคู่ได้รับเลือกตั้งเข้าสภาพร้อมกัน คนหนึ่งเป็น สส. อีกคนเป็น สว. มาจากพรรคและอุดมการณ์เดียวกัน

...

รัฐธรรมนูญฉบับต่อมา 2550 ยังคงไว้ซึ่งระบบ สว.เลือกตั้งครึ่งหนึ่ง จากการสรรหาอีกครึ่งหนึ่ง แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ได้ถอยหลังเข้าคลองอีกครั้ง ด้วยการทำให้รัฐบาลรัฐประหารสืบทอดอำนาจเกือบ 10 ปี เป็น สว.ที่มีอำนาจมากที่สุด ทั้งเลือกนายกรัฐมนตรี และยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

อำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีของ สว.ถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ สว.ยังมีอำนาจยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และอำนาจในการให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งกรรมการองค์กรอิสระต่างๆ รวมทั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ฝ่ายใดก็ตามที่สามารถแทรกแซงวุฒิสภาได้ จะสามารถครอบงำประเทศได้หรือไม่.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม