การหาเสียงของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งที่ผ่านมา นโยบายหลักของทุกพรรคเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ตั้งแต่วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ง่ายขึ้นไปจนถึงกติกาการเลือกตั้งและที่มาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยเฉพาะ ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศ เข้าใจว่าอารมณ์ตอนนั้น คืออยากจะสกัด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พรรคอนุรักษ์นิยม ก็เลยยก กรณีของ พล.อ.ประยุทธ์และ 250 สว. มาเป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่า จะได้เป็นประชาธิปไตยล้าง คราบเผด็จการ
รัฐบาลตอนนี้ก็คือพรรคฝ่ายค้านตอนนั้น ไม่เอาพรรคอนุรักษ์อยู่แล้ว ชาวบ้านก็คงเบื่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก็เลยมีอารมณ์ร่วมอยากจะแก้รัฐธรรมนูญด้วย โดยเฉพาะเนื้อหาที่ให้อำนาจ คสช.บริหารประเทศโดยตรง ที่ได้รับการยกเว้นในข้อกฎหมาย หรืออยู่เหนือระบบนิติบัญญัติและตุลาการ อารมณ์จะอยู่ประมาณนั้น อยากจะปฏิรูป
แต่มีเงื่อนไขคือ ไม่แตะต้องหมวด 1 และหมวด 2 ซึ่งการแก้รัฐธรรมนูญทุกครั้งก็ไม่มีการแตะต้องทั้งสองหมวดนี้อยู่แล้ว มีเพียง พรรคก้าวไกล ที่ยืนยันว่าต้องการปฏิรูป แต่ก็ไม่ได้พูดถึงรายละเอียดจะปฏิรูปอะไรอย่างไร เข้าใจว่าก้าวไกลเองก็ไม่กล้าที่จะไปแตะต้อง หรือรื้อทั้งสองหมวดอยู่แล้ว (เป็นการตลาด)
ดังนั้น เมื่อ เพื่อไทย เป็นแกนนำในการตั้งรัฐบาล โดยสลับขั้วไปจับมือกับ ฝ่ายอนุรักษ์ ก็คงจะเป็นเพราะประเด็น ปฏิรูป ของก้าวไกลที่ทำให้ทั้งสองพรรคจับมือกันไม่ได้ รู้ล่วงหน้าว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น ซึ่ง พรรคเพื่อไทย เคยประสบมาแล้วในการตั้งรัฐบาลก่อนหน้านี้ได้เสียงข้างมากเข้ามาก็ตั้งรัฐบาลไม่ได้
ก้าวไกล จะเดินหน้าก็ไม่ได้ จะถอยหลังก็ไม่ได้มาจนถึงทุกวันนี้ ดูจากความพยายามที่จะแก้รัฐธรรมนูญของก้าวไกล ที่ พริษฐ์ วัชรสินธุ พยายามอธิบายเรื่องของ การทำประชามติ ในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ระบุประชามติในช่วงแรกจะไม่เกิดขึ้นในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. ตามที่ฝ่ายรัฐบาลแจ้งไทม์ไลน์ แน่นอนเพราะมติที่ ครม.ให้มีการแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ ให้เรียบร้อยก่อน ถึงจะจัดทำประชามติได้
...
พบว่ารัฐบาลได้สื่อสารคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับกรอบเวลาในการทำประชามติครั้งแรกหลังจากการประชุม ครม. เพราะกว่าจะแก้กฎหมายประชามติเสร็จต้องใช้เวลา 90-120 วัน จากนั้นจึงจะเริ่มต้นการทำประชามติจริงๆ
กว่าสภาจะเปิดสมัยประชุมกว่าจะบรรจุร่างเข้าสู่ที่ประชุมสภา ก็เดือน มิ.ย.ไปแล้ว ทำประชามติกัน 3 รอบ กว่าจะตั้ง ส.ส.ร. กว่าจะเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้กว่าจะพิจารณากันจนครบ 3 วาระ ตั้งกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณาส่งให้ สว.เห็นชอบ จะได้เห็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญในสมัยรัฐบาลชุดนี้หรือเปล่าก็ยังไม่รู้เลย
แม้แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่เป็นประชาธิปไตยอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาลและ สส.เสียงข้างมาก เป็นเกมการเมือง เพราะฉะนั้นต่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ยังไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบอยู่ดี ประชาชนก็ไม่รู้ว่าจะแก้รัฐธรรมนูญกันทำไม พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่ได้เป็นนายกฯแล้ว การเมืองผสมพันธุ์ ข้ามขั้วกันเรียบร้อยแล้ว
นอกจากจะเป็นประชาธิปไตยที่กินไม่ได้ ยังอยู่ภายใต้เผด็จการเสียงข้างมาก (เดิมๆ)
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th
คลิกอ่านคอลัมน์ "คาบลูกคาบดอก" เพิ่มเติม