ช่วงที่การเมืองยังกลืนไม่เข้าคายไม่ออก อยากจะชวนคุยเรื่อง ที่มาของ สว. เดิมทีตามรัฐธรรมนูญปี 40 ที่ถูกฉีกไปแล้ว สว.มาจากการเลือกตั้ง ตามคำเรียกร้องของรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน การเลือก สว.กับ สส.ต่างกันก็คือ สส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง แต่ สว.ห้ามสังกัดพรรคการเมือง หรือลาออกจากสมาชิกพรรคการเมืองมาแล้วครบ 1 ปี ในวันรับสมัครเลือกตั้งมีผู้สนใจลงสมัครเลือกตั้ง สว.โดยตรงครั้งแรกจากหลายสาขาอาชีพ ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ภาคเอกชน ประชาชน นักการเมืองอิสระ เอ็นจีโอ บทสรุปก็คือคนที่ได้รับการสนับสนุนจากภาคการเมือง บ้านใหญ่ ผู้มีอิทธิพล ส่วนใหญ่จะได้รับเลือกเข้ามาเป็นโดยเฉพาะ ระบบหัวคะแนน ไม่ต่างจาก การเลือกตั้ง สส.
การเลือกตั้ง สว.จำนวน 200 คน ครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2543 อีนุงตุงนังพอสมควร สว.บางท่านอายุเยอะแล้ว ทำหน้าที่ไม่ครบวาระ ลาออกบ้าง เสียชีวิตบ้าง ต้องมีการเลือกตั้งซ่อมกันเรื่อยๆ
พอมีรัฐธรรมนูญปี 50 ก็เลยมาตั้งกติกากันใหม่ เลือกตั้ง สว. มาจังหวัดละคน ที่เหลือ ให้มาจากการสรรหา จนครบ 150 คน การเลือกตั้ง สส.ก็เริ่มมี สส.ระบบบัญชีรายชื่อ หรือแบบสัดส่วน
ให้สอดคล้องกับการเลือก สว.ในยุคนั้น คณะกรรมการสรรหา สว.ประกอบด้วย ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธาน กกต. ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธาน ปปช. ประธาน คตง. ตัวแทนจากผู้พิพากษาศาลฎีกา ทำหน้าที่คัดเลือกบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อจากองค์กรต่างๆ จากภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาควิชาชีพ แล้วก็มาแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ นายกฯจะต้องมาจาก สส. ในปี 2554 สมัย รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สร้างกลไกระบบการเลือก สส.ขึ้นมาใหม่
จนกระทั่งปี 2557 มีการยึดอำนาจ โดย คสช. ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2550 รัฐธรรมนูญชั่วคราว ให้มีการสรรหา สว. ทำให้ สว.จำนวนเกือบครึ่งมาจากการสรรหาโดยตรง และเกิดการเรียกร้องการมีส่วนร่วมของประชาชน จนมีรัฐธรรมนูญปี 2560 ตามบทเฉพาะกาลให้มีการสรรหา สว.250 คน ทำหน้าที่ในระยะ 5 ปีแรก เป็น สว.มาจากการสรรหาของ คสช.3 ช่องทางคือโดยตำแหน่งการคัดเลือกจาก 10 กลุ่มอาชีพ และคณะกรรมการสรรหาที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน เลือกกันมา 400 คน คสช.คัดให้เหลือ 194 คน แต่หลังจาก 5 ปีแล้วจะเหลือช่องทางเดียวคือเปิดรับสมัครผู้ประสงค์ที่จะเป็น สว.จากกลุ่มอาชีพต่างๆ ปัจจุบันมีจำนวน 20 กลุ่ม ผู้สมัครจะคัดเลือกกันเองตั้งแต่ระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด แล้วไปเลือกกันเองให้ได้ 200 คน
...
จากให้ประชาชนเลือกโดยตรงมาเป็นให้ผู้สมัครเลือกกันเอง
ประชาชน เลยไม่มีส่วนร่วมตั้งแต่การรับสมัครไปจนถึงขั้นตอนการแนะนำตัวและสรรหาเท่ากับว่า รัฐธรรมนูญปี 60 ได้ยึดอำนาจการเลือกตั้ง สว.ไปจากประชาชนเป็นที่เรียบร้อย
ที่มาของ สว.ไม่ว่าจะมาจากการสรรหากันเอง หรือผู้มีอำนาจสรรหา หรือคณะกรรมการสรรหาจะต่างกันตรงไหนในเมื่อประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมตั้งแต่แรก ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนเลือก แล้วเลือกได้ใครเข้ามาทำหน้าที่
สว.หรือผู้สูงวัย แล้วจะมี สว.ไปเพื่ออะไร
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th
คลิกอ่านคอลัมน์ "คาบลูกคาบดอก" เพิ่มเติม