การจัดอีเวนต์ใหญ่ทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย “10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10” เมื่อ 3 พฤษภาคม คุณ “อุ๊งอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้พูดถึงปัญหาเศรษฐกิจภายใต้การบริหารของรัฐบาลเพื่อไทย ซึ่งโตตํ่ากว่าค่าเฉลี่ยประเทศในอาเซียน คุณแพทองธาร ได้กล่าวหา ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็น อุปสรรคสำคัญ กำลังเป็นประเด็นร้อนที่ถูกพูดถึงในแวดวงตลาดเงินตลาดทุน สื่อหลัก และสื่อสังคมออนไลน์ รวมทั้งสื่อต่างประเทศ สะท้อนภาพลักษณ์ที่ไม่ดีนักของผู้นำรัฐบาลเพื่อไทย

คุณแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ขึ้นเวทีพูดถึงผลงานของรัฐบาลเพื่อไทยช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา ช่วงที่พูดถึง ธนาคาร แห่งประเทศไทย ได้ก้มหน้าลงอ่านเนื้อหาในแท็บเล็ต แต่คงจะไม่ค่อยเข้าใจดีนัก จึงอ่านแบบกระท่อนกระแท่นไม่ลื่นไหลเหมือนเรื่องอื่น

คุณแพทองธาร กล่าวว่า “ตอนนี้กฎหมายพยายามที่จะให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นอิสระจากรัฐบาล เรื่องนี้ถือว่าเป็นปัญหาและอุปสรรคสำคัญมากๆในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพราะนโยบายด้านการคลังถูกใช้งานเพียงด้านเดียวมาโดยตลอด ทำให้ประเทศของเรามีหนี้ที่สูงมากขึ้น และสูงเพิ่มมากขึ้นทุกปี จากการ ตั้งงบประมาณที่ขาดดุล ถ้านโยบายการเงินที่บริหารโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ยอมเข้าใจ และไม่ยอมให้ความร่วมมือ ประเทศเราจะไม่มีทางลดเพดานหนี้ได้เลย”

ก็ไม่รู้ใครเป็นคนเขียนสคริปต์ให้ คุณแพทองธาร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย คนเขียนคงไม่เข้าใจเรื่องนโยบายการเงินแบงก์ชาติ ไม่เข้าใจความเป็นอิสระของแบงก์ชาติ ไม่เข้าใจหนี้สาธารณะหนี้ครัวเรือน สคริปต์นี้ทำให้หัวหน้าพรรคเพื่อไทยเสียชื่อและเสียหน้ามาก

ความจริง ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นอิสระจาก “รัฐบาล” มานานแล้ว ตาม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 เพื่อดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพทางการเมืองของชาติไม่ให้นักการเมืองเข้ามาแทรกแซง จึงไม่ใช่ว่า “กฎหมายพยายามที่จะให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นอิสระจากรัฐบาล” ลองคิดดู ถ้ารัฐบาลหรือนักการเมืองมีอำนาจควบคุมแบงก์ชาติ สามารถกำหนดนโยบายดอกเบี้ยตามชอบใจ เพื่อตอบสนองนโยบายการเมือง เหมือนอย่างที่ นายกฯเศรษฐา ทวีสิน และคนในพรรคเพื่อไทยพยายามกดดัน ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ทุกวิถีทาง เพื่อให้ลดดอกเบี้ยตามที่นักการเมืองต้องการ ถ้าแบงก์ชาติยอมทำตามเมื่อไหร่ รับรองว่าเศรษฐกิจการเงินไทยจะประสบความหายนะในชั่วพริบตา ไม่ต่างจาก “ยุคต้มยำกุ้ง” ที่ มีนายกฯไม่เข้าใจระบบการเงินสั่งยุบ 56 ไฟแนนซ์ จนนำไปสู่ความหายนะเศรษฐกิจการเงินของชาติอย่างมหาศาล จนถึงวันนี้คนไทยก็ยังใช้หนี้ไม่หมด

...

ด้วยเหตุผลนี้ทุกประเทศทั่วโลก แบงก์ชาติจึงเป็นอิสระจากนักการเมืองหรือรัฐบาล แม้จะอยู่ใต้การกำกับของรัฐบาล ถ้าทำเมื่อไหร่ Trust ความเชื่อมั่นจากนักลงทุนก็จะหมดไปทันที นักการเมืองสามารถ วิ่งเต้นได้ ก่อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันได้เหมือนในอดีตที่เกิดขึ้น

วันพุธที่แล้ว ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 5.25–5.50% ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดในรอบ 23 ปี แม้จีดีพีสหรัฐฯไตรมาสแรกจะเติบโตตํ่าแค่ 1.6% แต่ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ ที่มีอำนาจบาตรใหญ่ที่สุดในโลก ก็ไม่กล้า ไปแทรกแซงบอกให้ประธานเฟดลดดอกเบี้ยลงมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เหมือนอย่างที่ นายกฯเศรษฐา ทำไปแล้ว ถือเป็นการก้าวก่ายอำนาจธนาคารกลางที่ไม่ควรทำมีนักข่าวไปถาม ประธานเฟด ถึงการแทรกแซงจากนักการเมือง

นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ตอบว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ ไม่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจอัตราดอกเบี้ยของเฟด การตัดสินใจนโยบายของเฟดมาจาก “สิ่งที่เราคิดว่าเหมาะสมสำหรับเศรษฐกิจ” โดยไม่นำเรื่อง “การเมือง” มาใช้วิเคราะห์ ผู้ว่าการแบงก์ชาติไม่จำเป็นต้องเอาใจนักการเมือง ไม่ใช่บริหารประเทศไม่ดี แล้วโทษแบงก์ชาติไม่ลดดอกเบี้ย พูดไปก็อายฝรั่งเขา.

“ลม เปลี่ยนทิศ”

คลิกอ่านคอลัมน์ "หมายเหตุประเทศไทย" เพิ่มเติม