คนส่วนมากเชื่อว่าเมื่ออยู่ในประเทศประชาธิปไตย (แท้) เรื่องอะไรก็สามารถโต้เถียงกันได้ อย่างเมื่อเร็วๆนี้ มี สส.พรรคเพื่อไทยหลายคน ดาหน้าออกมาโจมตีรองประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวหาว่าล่วงล้ำอำนาจบริหาร ด้วยการเดินเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล เพื่อทวงถามร่าง พ.ร.บ.หลายฉบับ
มาวันนี้ พรรคก้าวไกลเตรียมเสนอญัตติให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ เพื่อศึกษาเรื่องขอบเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ และขอบเขตอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นการละเมิดอำนาจศาลหรือไม่ หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การหาเสียงของพรรคก้าวไกล ด้วยการเสนอแก้ ม.112 ผิดกฎหมาย
ไม่ได้เป็นความผิดธรรมดา แต่ระบุว่าเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข บางคนอาจเถียงว่าในประเทศประชาธิปไตย จะต้องมีการ “ตรวจสอบและถ่วงดุล” ระหว่าง 3 อำนาจ คืออำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ
เหตุที่ต้องมีการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่าง 3 อำนาจ นักรัฐศาสตร์ระบุว่า “อำนาจทำให้เหลิง” หรือ “อำนาจทำให้เกิดการลุแก่อำนาจ” ยิ่งถ้าเป็นอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่มีอำนาจอื่นตรวจสอบ ยิ่งจะลุแก่อำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด กลายเป็นเผด็จการ จึงต้องมีการตรวจสอบเพื่อไม่ให้อำนาจใดครอบงำ
การปกครองระบอบประชาธิปไตย แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ระบบรัฐสภา ซึ่งใช้อยู่ในประเทศประชาธิปไตยส่วนใหญ่ รวมทั้งไทย แบ่งอำนาจออกเป็น 3 อำนาจ แต่มีเพียงอำนาจนิติบัญญัติอำนาจเดียวที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน รัฐธรรมนูญระบุชัดว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย”
ส่วนอำนาจบริหารคือคณะรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับปัจจุบัน ระบุว่านายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกของเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ส่วนคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน มาจากการเลือกของคณะกรรมการสรรหา 4 คน และเสียงเกินกึ่งหนึ่งของวุฒิสภา
...
ไม่ทราบชัดเจนว่าพรรคก้าวไกล ต้องการให้สภาศึกษาในประเด็นใด อาจจะสงสัยว่าทำไมศาลรัฐธรรมนูญ จึงมีอำนาจสั่งห้ามพรรคการเมือง ไม่ให้หาเสียงในเรื่องนั้นเรื่องนี้ รัฐสภาจะมีอำนาจ ตรวจสอบ และถ่วงดุลศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรืออาจเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ให้จะจะไปเลยเอาไงกันแน่.
คลิกอ่านคอลัมน์ "บทบรรณาธิการ" เพิ่มเติม