นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ประกาศ 8 ยุทธศาสตร์ประเทศ ในจำนวนนั้นมี การเป็นศูนย์กลางการบิน และ การขนส่งอยู่ด้วย ไม่ใช่เรื่องไม่ดี เพราะตามลักษณะภูมิรัฐศาสตร์แล้ว ประเทศไทย เหมาะที่จะเป็น ศูนย์กลางของอาเซียนมากที่สุด เราตั้งอยู่ตรงจุด ศูนย์กลางรายล้อมไปด้วยประเทศอาเซียน มีอาณาเขตติดกับเพื่อนบ้านทุกทิศทาง มีพื้นที่พอจะสร้างสนามบินขนาดใหญ่ในทุกภูมิภาคอย่างสบายๆ เป็นจุดกึ่งกลางขนส่งทางรางก็ได้ ขนส่งทางน้ำก็ดี มีชายฝั่งทะเลอันดามัน และฝั่งอ่าวไทย ดีครบจบทุกเรื่อง
แต่ทำไมเราสู้สิงคโปร์ไม่ได้ เรากำลังแข่งกับ สปป.ลาว ด้านการขนส่งทางราง เรากำลังจะแข่งกับเวียดนาม มาเลเซีย เราเคยตั้งเป้าหมายจะเป็นฮับในการผลิตรถยนต์ ปรากฏว่า เวียดนามและอินโดนีเซีย แซงหน้าไปแล้ว
เป็นคำถามที่จะต้องคิดหนัก ซึ่งทำให้ต้องนึกถึงคำพูดของผู้นำสิงคโปร์ ในกรณีการใช้กองทุนสนับสนุนการจัดงานคอนเสิร์ต และการแข่งขัน Formula One เป็นวิธีการคิดที่แตกต่างกัน
ขณะที่ รัฐบาลเศรษฐา พยายามจะชูนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ สนับสนุนสินค้าไทย เอกลักษณ์ไทย จัดงานอีเวนต์ให้คนไทยดู เอาผ้าขาวม้า เสื้อย้อมครามไปโชว์ต่างประเทศ ลงทุนเป็นพรีเซนเตอร์เอง ขณะเดียวกันพยายามเจรจากับเจ้าของแบรนด์แฟชั่นชั้นนำ เจ้าของห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ที่มีสาขาทั่วโลก คุยกับผู้จัดการแข่งขันรถฟอร์มูล่า วัน เพื่อจะเชิญให้มาจัดการแข่งขันในไทย คุยกับเจ้าของบริษัทโลจิสติกส์ โรงงานรถยนต์ เยอะไปหมด
แต่เราไม่พร้อมสักเรื่อง โครงการแลนด์บริดจ์ ก็ดูจะเงียบๆไปแล้ว ทั้งหมดนี้เกิดจากความไม่พร้อมหรือไม่ ไม่มีเป้าหมาย หรือยังไม่มีสินค้าพร้อมที่จะโชว์ เลยทำให้นโยบายรัฐบาลดูสะเปะสะปะไปหมด
เอาเฉพาะ ซอฟต์พาวเวอร์ นโยบายเดียว ตั้งเป้าหมายไว้อย่างสวยหรู จะสร้างงานให้คนไทย 20 ล้านตำแหน่ง สร้างรายได้ 4 ล้านล้านบาทต่อปี ผ่าน 11 สาขา อาทิ การท่องเที่ยว เทศกาล กีฬา อาหาร ภาพยนตร์ ดนตรี ศิลปะ หนังสือ เกม ออกแบบแฟชั่น สร้างแบรนด์นวัตกรรมและการออกแบบผลักดันสู่ตลาดโลก แล้วยังไง
...
ที่ผ่านมาข้อมูลจาก กระทรวงพาณิชย์ อ้างว่า มีการจัดกิจกรรมไปแล้ว 42 กิจกรรม ผู้ประกอบการไทยได้รับประโยชน์ 294 ราย มูลค่าทางการค้ากว่า 6 พันล้าน ไม่ว่าจะเป็นมวยไทย งานหนังสือ อาหาร ซึ่งยังมีกิจกรรมในปีนี้อีกไม่น้อยกว่า 207 กิจกรรม มีการดำเนินงานในต่างประเทศ 30 ประเทศทั่วโลก เชิญชวนอินฟลูเอนเซอร์มาช่วยขายสินค้าไทย ผ่านกิจกรรมไลฟ์คอมเมิร์ซ และในรูปแบบของการส่งเสริมภาพยนตร์และซีรีส์ ก็ยังไม่มีอะไรเป็นซอฟต์พาวเวอร์ นอกจากมหกรรมขายสินค้าทั่วไป
จนถึงบัดนี้ งบประมาณ ซอฟต์พาวเวอร์ที่ตั้งเอาไว้ 5-6 พันล้าน ส่วนใหญ่จะนำไปใช้ในการกิจกรรมต่างๆ สร้างมูลค่าเพิ่มหรือเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการและชาวบ้านได้แค่ไหน เมื่อดูจากสภาพของธุรกิจเอสเอ็มอีแล้วมีแต่เจ๊งกับเจ๊ง ชาวบ้านก็ยังไม่มีงานทำอยู่ดี
ศูนย์กลางการบินที่ว่า เทียบระหว่างสนามบินสุวรรณภูมิกับสนามบินแห่งชาติสิงคโปร์เฟสที่สามห่างกันไกล สิงคโปร์เป็นฮับที่ใช้เอไอทำหน้าที่แทนแรงงานมนุษย์ทั้งเร็วทั้งแม่นยำ และไม่ต้องทนกับอารมณ์ของ ตม.
ส่วนสนามบินดอนเมืองสภาพใกล้จะเป็นพิพิธภัณฑ์เข้าไปทุกที.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th
คลิกอ่านคอลัมน์ "คาบลูกคาบดอก" เพิ่มเติม