ใครที่บ่นว่ารัฐบาลแก้ไขปัญหาล่าช้า โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจเรื่องปากท้องของประชาชน แม้นายกรัฐมนตรีจะพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจ วันหนึ่งๆนับสิบๆ เรื่อง รัฐบาลชักชวนนายทุนใหญ่ต่างประเทศเข้ามาลงทุนครั้งละกว่าสิบบริษัท แต่ที่มาจริงกี่บริษัท ส่วนปัญหาการเมืองไม่ต้องพูดถึงเพราะช้ายิ่งกว่า

นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน เคยสัญญาว่าจะเร่งแก้ไขหรือจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ที่เป็นประชาธิปไตย ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรก กว่า 6 เดือนที่ผ่านไป ประชุม ครม.มาแล้วไม่รู้กี่คน จนขณะนี้ได้แต่ชื่อของคณะกรรมการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะมีการออกเสียงประชามติกี่หน จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ที่ค่อนข้างชัดเจนที่สุดมีเพียงอย่างเดียว คือ รัฐธรรมนูญ จะแล้วเสร็จภายใน 4 ปี ส่วนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มีทั้งร่างของพรรคก้าวไกล และภาคประชาชน

เมื่อวันก่อนนายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีตผู้นำกลุ่มคนเสื้อแดง ปัจจุบันเป็นผู้นำกลุ่มหลอมรวมประชาชน ออกมาเรียกร้องรัฐบาลและฝ่ายต่างๆให้เร่งตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพื่อขจัดความขัดแย้ง แต่จะสร้างความปรองดองในชาติ แต่ฝ่ายรัฐบาลโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยอาจจะไม่รีบร้อน

เหตุที่พรรคเพื่อไทยไม่สนใจ ในเรื่องนิรโทษกรรม และสร้างความปรองดองในชาติ อาจเพราะกลัวพรรคก้าวไกลได้หน้า เพราะร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่เป็นข่าวบ่อยสุด คือร่างของก้าวไกล เหตุผลสำคัญอาจเพราะว่านิรโทษ กรรมแบบสุดซอย รวมทั้งยกโทษให้ผู้ต้องคดี ป.อาญา ม.112 ด้วย

ถึงแม้การให้นิรโทษกรรมจะมุ่งขจัดความขัดแย้ง และสร้างความปรองดองในชาติ แต่จะต้องทำด้วยความรอบคอบ มิฉะนั้นอาจได้ผลตรงกันข้าม เช่น พ.ร.บ.นิรโทษกรรม “สุดซอย” ที่ออกโดยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ถูกโจมตีว่าออกมาเพื่อล้างมลทินให้อดีตนายก รัฐมนตรีที่ต้องคดีการเมืองและการทุจริต

...

พรรคฝ่ายค้านซึ่งมีเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้นำออกมาปลุกระดม “มวลมหาประชาชน” ออกมาต่อต้านกลางกรุงเทพมหานคร และในที่สุดนำไปสู่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 โดยคณะ คสช.ยึดอำนาจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดยอ้างว่าเพื่อสร้างความปรองดอง แต่กลายเป็นคู่ขัดแย้ง.

คลิกอ่านคอลัมน์ "บทบรรณาธิการ" เพิ่มเติม