“พิพัฒน์” ถอนมติบอร์ดค่าจ้างพ้น ครม.กลับไปทบทวนใหม่ ชี้ ครม.เห็นพ้องไม่เห็นด้วยสูตรค่าแรง เอาตัวเลขฐานปี 2563- 2564 ช่วงโควิดระบาดมาคิด ยันเสร็จทันใช้ 1 ม.ค.67 ตามเดิม “ปลัดแรงงาน” รับลูกเรียกถกบอร์ดชุดใหญ่ สัปดาห์หน้าปรับสูตรใหม่ ส่งกลับ ครม.ภายในเดือน ธ.ค. นายกฯรับลุ้นหวังได้ตัวเลขสูงกว่า 2.37% “กรรมการ ฝ่ายลูกจ้าง” อึ้งไม่เคยเห็นรัฐบาลไหนแทรกแซง “วีรสุข” เตือนระวังผิดกฎหมาย สะกิดถามกฤษฎีกาให้ชัด ส.อ.ท.โอดขยับเป็น 400 บาท/วัน ยิ่งซ้ำเติมหนัก ปชป.เลือดไหลไม่หยุด “อานิก” ไขก๊อกรายล่าสุด “อนุทิน” ไม่กังวลเพิ่มอำนาจต่อรองให้พรรค พท. “ภูมิธรรม” แจงยังไม่คิดดึง ปชป.ร่วมรัฐบาล

จากกรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ไม่เห็นด้วยกับมติคณะกรรมการค่าจ้างหรือบอร์ดไตรภาคี เห็นชอบปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2567 เพิ่มขึ้นวันละ 2-16 บาท หรือเฉลี่ย 2.37% ล่าสุด ที่ประชุม ครม.ตั้งข้อสังเกตตัวเลขเกณฑ์การคิดคำนวณ โดยนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ขอถอนเรื่องออกจาก ครม.ไปพิจารณาทบทวนใหม่

...

ครม.ปรับเวลาเริ่มประชุม 10 โมง

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 12 ธ.ค. ที่ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เปลี่ยนมาเริ่มประชุมจาก 09.00 น. เป็น 10.00 น. เป็นครั้งแรก เนื่องจากใช้เวลาไม่นาน นายกฯต้องการใช้เวลาช่วงอาหารกลางวันพูดคุยกับรัฐมนตรีพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อกระชับความสัมพันธ์ ส่วนงานประชาสัมพันธ์ก่อนประชุม ครม.ให้เน้นกิจกรรมใหญ่ๆตามเทศกาลแต่ละกระทรวง ก่อนประชุม ครม.ผู้สื่อข่าวถามว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จะส่งสภาฯได้เมื่อไหร่ นายกฯตอบว่า ยังไม่รู้เรื่องเลย เมื่อถามว่า เรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะเข้าที่ประชุม ครม.เลยหรือไม่ นายกฯตอบว่า “ยังครับ เดี๋ยวรู้ครับ เข้าประชุมก่อนนะ”

ขอ รมต.เที่ยวงานกาชาดหนุนโอทอป

ต่อมาเวลา 14.30 น. นายกฯให้สัมภาษณ์ว่า ได้สั่งการ 2-3 เรื่อง คือขอให้รัฐมนตรีช่วยไปเที่ยวงานกาชาด ประจำปี 2566 จัดวันที่ 8-18 ธ.ค.ที่สวนลุมพินี กทม. และช่วยสนับสนุนสินค้าโอทอป และเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. ลงพื้นที่ จ.กาญจนบุรี มีเรื่องต่อเนื่องต้องให้หลายกระทรวงช่วยเหลือ ไม่ว่าพื้นที่ทับซ้อน ที่ดินทำกินของประชาชน ได้พูดคุยกับ ผบ.ทหารสูงสุดและปลัดกระทรวงกลาโหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย ต้องตกลงกันถึงเรื่องพื้นที่ที่จะให้ประชาชนเป็นเจ้าของที่ดินแปลงสินทรัพย์เป็นทุนกู้ได้ และจะแก้ปัญหาหนี้นอกระบบได้ด้วย ส่วนกรณีที่มองว่าการขยายเวลาเปิดสถานบันเทิง อาจมีปัญหาสังคมตามมา ปัญหายาเสพติดหรืออาวุธเป็นหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ต้องบริหารจัดการไป

ให้รอดูปราบหมูเถื่อนไร้มวยล้ม

นายกฯกล่าวถึงการปราบปรามการค้าหมูเถื่อนยืนยันเดินหน้าแก้ปัญหาเต็มที่ ได้ทำลายแก๊งหมูเถื่อนแล้ว อยู่ในขั้นตอนสาวถึงรายใหญ่ เมื่อถามว่ามีการพูดกันว่าอาจจะไม่สาวไปถึงต้นทาง อาจจะได้ลูกกระจ๊อกเป็นไอ้ห้อยไอ้โหน กลัวจะเป็นมวยล้มต้มคนดู นายกฯกล่าวว่า ก็ขอให้คอยดูต่อไป แต่ยินดีรับฟังเสียงสะท้อนของปัญหา เมื่อถามว่า 6 เดือนข้างหน้าจะเห็นราคาหมูของชาวบ้านดีขึ้นหรือไม่ นายกฯกล่าวว่า นั่นคือความตั้งใจของรัฐบาลนี้ ที่ดูแล ความเป็นอยู่ของเกษตรกร เมื่อถามว่าที่ด่านศุลกากรก็มีเครื่องเอกซเรย์ทำไมถึงมองไม่เห็นว่ามีหมูเถื่อน นายกฯกล่าวว่า ตนไม่ทราบ แต่แน่นอนหากมีการร้องเรียนมา ตนก็ต้องเข้าไปดูถึงความเหมาะสมของอุปกรณ์ และหากมีการทุจริตประพฤติไม่ชอบ รัฐบาลนี้ไม่ปล่อยไว้แน่นอน เมื่อถามย้ำว่า ไม่ว่าข้าราชการกรมศุลกากรหรือนายทุนใหญ่หรือนักการเมือง เราได้เห็นโดนคดีนี้หรือไม่ นายกฯตอบว่า ถ้าทำผิดต้องโดน แต่อย่าเพิ่งไปตั้งธง

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรฯกล่าวว่า รายชื่อนักการเมืองที่เกี่ยวข้องกับคดีหมูเถื่อน เป็นหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ จะเปิดเผยหรือไม่ เป็นคดีพิเศษ กระทรวงเกษตรฯส่งข้อมูลให้หมดแล้ว

มท.1 คุมเข้มปืน-ยาเสพติดช่วงปีใหม่

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณีพบเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี เข้าสถานบันเทิงหลังเกิดคดีเด็กอายุ 17 ปี กับนายสมรักษ์ คำสิงห์ อดีตนักมวยชื่อดังว่า แต่ละจังหวัดมีเจ้าหน้าที่ที่ดูแลอยู่แล้ว สถานบันเทิงต้องตรวจสอบก่อน มท.ได้ออกข้อสั่งการทั่วประเทศไปแล้วเข้มงวด 3 เรื่อง 1.อายุไม่ถึงกำหนด 2.ถือครองอาวุธปืนและ 3.ยาเสพติด เราค่อนข้างเข้มงวด การเปิดสถานบันเทิงถึงเวลา 06.00 น.ช่วงเทศกาลปีใหม่ สถานบันเทิงต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ถ้าไม่มีใบอนุญาต ขายสุราได้แค่เวลา 24.00น. เราขยายเวลาแต่ไม่ได้ลดอายุ ผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี สถานบันเทิงต้องตรวจเข้มข้นยิ่งขึ้น แต่ละพื้นที่มีแผนอยู่แล้ว ผวจ.รายงานตรงมาอยู่แล้ว

“พิพัฒน์” ดึงค่าจ้างไปทบทวนใหม่

ต่อมาเวลา 11.32 น. ภายหลังประชุม ครม.นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯและ รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำว่า เรื่องของแรงงาน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ได้นำเสนอต่อที่ประชุม ครม. โดยนายพิพัฒน์ได้สรุปเองบอกจะต้องนำกลับไปตั้งข้อสังเกตและพิจารณาสูตรการคิดค่าแรงใหม่ ท่านนำมาเสนอและดึงกลับไปเอง จึงแจ้งเพื่อทราบ เมื่อถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ นายกฯกล่าวว่า เป็นการตั้งข้อสังเกตไปแล้ว ต้องแล้วแต่และต้องให้เกียรติคณะกรรมการไตรภาคี พูดได้แค่นี้ เมื่อถามว่าจะทันช่วงปีใหม่หรือไม่ นายกฯกล่าวว่า คิดว่าอาทิตย์หน้าอาจจะนำเข้าที่ประชุม ครม.หรือไม่เกิน 2 อาทิตย์ อาจจะเป็นวันที่ 25 ธ.ค.หรืออะไรสักอย่างตรงนั้น น่าจะเอาเข้ามาได้ทัน

นายกฯหวังตัวเลขสูงกว่ามติบอร์ดค่าจ้าง

เมื่อถามว่าตัวเลขที่นายกฯตั้งใจไว้อยู่ที่เท่าไหร่ นายเศรษฐากล่าวว่า ก็ไม่ใช่ตัวเลขปัจจุบันนะ แต่ก็ต้องฟังเขาก่อน มันมีข้อกฎหมายอะไรหลายอย่างที่ทักท้วงเข้ามา แต่สิ่งที่ตนต้องการไม่ใช่ตัวเลขจำนวนนี้ เมื่อถามว่าจะได้ตัวเลข 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศหรือไม่ นายเศรษฐาไม่ตอบคำถามพร้อมกับกล่าวว่า “คำถามต่อไปครับ”

ชง กก.ไตรภาคีเคาะทันใช้ 1 ม.ค.67

ด้านนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า ได้เสนอมติคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 หรือบอร์ดไตรภาคี เข้าที่ประชุม ครม.ตามกำหนดว่า เห็นชอบการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2567 เพิ่มขึ้นวันละ 2-16 บาท หรือเฉลี่ย 2.37% แต่เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์มากขึ้น กระทรวงแรงงานจึงขอเสนอกลับไปพิจารณารายละเอียดเพิ่มเติมอีกครั้ง คาดว่าจะนำกลับเข้ามา ครม.ก่อนสิ้นปีนี้ “ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการนำหลักการคำนวณค่าแรงขั้นต่ำ โดยใช้ฐานปี 2563-2564 มาเป็นสูตรคำนวณ และที่ประชุม ครม.มีการตั้งข้อสังเกต จึงจะเสนอไปยังคณะกรรมการค่าจ้าง พิจารณาเพิ่มเติมใหม่อีกครั้ง ส่วนจะทำให้ล่าช้าหรือไม่ จะทำให้เร็วที่สุดและจะได้ข้อสรุปในเดือน ธ.ค.2566 เพื่อให้การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเริ่มต้นได้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.67” รมว.แรงงานกล่าว

ไม่เห็นด้วยใช้ตัวเลขยุคโควิดคำนวณ

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกฯกล่าวว่า เนื่องจาก รมว.แรงงานได้นำเสนอให้ ครม.ทราบมติของคณะกรรมการไตรภาคี แต่ได้ตั้งข้อสังเกตว่าการให้เกณฑ์คำนวณขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ที่ประกอบด้วยฐานค่าจ้างเดิม ค่าครองชีพ เงินเฟ้อ ต้นทุนการผลิต ราคาสินค้า บริการ ความสามารถของภาคธุรกิจ ย้อนหลัง 5 ปี มีปี 2563-2564 ที่เกิดการระบาดของโควิด เศรษฐกิจถดถอยรุนแรง ทำให้ตัวเลขใน 2 ปีนั้นต่ำกว่าความจริง จึงขอถอนเรื่องออกไปก่อน เท่ากับว่า ครม.ได้ยินเฉยๆ แต่ยังไม่ได้รับทราบอย่างเป็นทางการ

สัปดาห์หน้าเรียกถกบอร์ดชุดใหญ่

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ครม.ให้นำเรื่องกลับมาพิจารณาใหม่ จะปรับสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างใหม่ เนื่องจากปี 2563-2564 ถูกนำมาคำนวณการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจรอบ 5 ปี เป็นช่วงที่สถานการณ์ช่วงโควิด-19 ระบาด การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจึงมีน้อย กลายเป็นตัวถ่วงการพิจารณาตามสูตรค่าจ้าง จึงต้องปรับสูตรใหม่ แต่ไม่ต้องกลับไปพิจารณาเป็นรายจังหวัดเหมือนเดิม ไม่ต้องกลับไปนับหนึ่งใหม่ บอร์ดค่าจ้างชุดใหญ่พิจารณาได้เลย ดังนั้น รอบนี้จะไม่ช้าและนำเข้า ครม.ได้ทันภายในเดือนนี้ จะเรียกประชุมบอร์ดค่าจ้างเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ในสัปดาห์หน้า

จี้ถามกฤษฎีกา รบ.แทรกแซงผิด ก.ม.

นายวีรสุข แก้วบุญปัน คณะกรรมการค่าจ้างฝ่ายลูกจ้าง กล่าวถึงการทบทวนอัตราค่าจ้างใหม่ว่า หลักปฏิบัติการขึ้นอัตราค่าจ้างตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ไม่เคยมีรัฐบาลไหนที่ทำแบบนี้ ทุกครั้งที่บอร์ดค่าจ้างมีมติไปต้องอนุมัติไปตามนั้น เว้นเสียแต่ว่าปีไหนเศรษฐกิจดีขึ้นอาจมีการปรับค่าจ้างปีละ 2 ครั้ง แต่ครั้งนี้มติบอร์ดค่าจ้างถูกตีกลับเอามาทบทวนใหม่ ต้องถามว่ากฎหมายรองรับหรือไม่ ประเด็นที่จะพิจารณาใหม่หรือจะไม่พิจารณาไม่ใช่เรื่องสำคัญ จุดสำคัญอยู่ที่ว่ารัฐบาลมีอำนาจแทรกแซงแบบนี้หรือไม่ ต้องถามไปที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ถ้ากฎหมายบอกว่าทำได้จบ ไปทำต่อไปได้เลยเพราะลูกจ้างชอบอยู่แล้ว แต่ถ้ากฎหมายไม่รองรับไม่มีใครกล้าทำผิด รัฐบาลต้องอย่าลืมว่ามีกฎหมายมาตรา 157 ค้ำคออยู่

นายวีรสุขกล่าวว่า การพิจารณาค่าจ้างใหม่อาจยุ่งตายแน่ ถ้าบอร์ดค่าจ้างประชุมร่วมกันแล้วมีมติเห็นชอบอัตราค่าจ้างเดิม ไม่ทบทวนใหม่แล้วส่งกลับเข้า ครม.อีกครั้ง เพราะกรรมการค่าจ้างต้องดูทิศทางลมด้วยว่ากฎหมายเปิดทางให้ทำได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าทำไม่ได้ต้องยึดตามมติบอร์ดค่าจ้าง เพราะกฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดไว้แล้วว่าเป็นอำนาจบอร์ดกำหนดอัตราค่าจ้างและเสนอ ครม.เพื่อรับทราบ ไม่ใช่เสนอเพื่อพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับ กระทรวงแรงงานมีฝ่ายกฎหมายดูแลอยู่แล้ว บอร์ดฝ่ายนายจ้างหรือลูกจ้างมีฝ่ายกฎหมายเป็นที่ปรึกษาทั้งนั้น คงต้องรอปลัดกระทรวงแรงงานในฐานะประธานบอร์ดค่าจ้างเรียกประชุมจึงจะทราบแนวทางที่ชัดเจน

ถกใหม่ไม่ช้าสำคัญ ก.ม.รองรับหรือไม่

เมื่อถามว่ารัฐบาลตั้งธงให้ปรับค่าจ้างสูงขึ้น ถ้าบอร์ดค่าจ้างเห็นต่างต้องถึงขั้นโหวตหรือไม่ นายวีรสุขตอบว่า ถ้าโหวตต้องมีเสียง 2 ใน 3 ของคณะกรรมการค่าจ้างที่มีอยู่ 15 คน แต่เชื่อว่าแม้จะเห็นต่างคงไม่มีการโหวต ควรเจรจาแบบแรงงาน สัมพันธ์ดีกว่า การโหวตน่าจะเป็นวิธีสุดท้าย มีตัวแทนรัฐบาลตัวแทนนายจ้างและตัวแทนลูกจ้างฝ่ายละ 5 คน ถ้าต้องโหวตเดาไม่ยากว่าจะออกมาทิศทางใด แต่ยังไม่แน่นอน ทุกคนต้องดูทิศทางลมด้วย ถ้าต้องพิจารณาใหม่ปรับสูตรตัดเอาปี 2563-2564 ช่วง 2 ปีที่เศรษฐกิจแย่ออกไปจะทำให้อัตราค่าจ้างปรับเพิ่มสูงขึ้นมาได้ อยู่ที่คณะกรรมการกลั่นกรองค่าจ้างจะกำหนดสูตรขึ้นมา ช่วง 2 ปีที่โควิดระบาดหนักไม่ได้ปรับขึ้นค่าจ้าง จึงต้องหารือในบอร์ดค่าจ้าง อาจทบทวนเป็นกลุ่มจังหวัด 17 กลุ่มที่ปรับค่าจ้างอัตราเดียวกัน ไม่ต้องพิจารณาใหม่เป็นรายจังหวัดทั้ง 77 จังหวัด ใช้เวลาไม่นาน แต่สำคัญว่ามีกฎหมายรองรับและทำได้หรือไม่มากกว่า” นายวีรสุขกล่าว

ส.อ.ท.โอดขยับเป็น 400 บาทอยู่ยาก

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ ครม.ให้นำกลับไปพิจารณาเพิ่มเติม เพื่อความเหมาะสมแล้วนำเสนอ ครม.อีกครั้งก่อนสิ้นปีนี้ว่า การพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำ ส.อ.ท. และเวทีคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คงนโยบายการพิจารณาผ่านกลไกคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดไตรภาคี) ที่สอดรับกับกฎหมาย มีหลักเกณฑ์การพิจารณาที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ เมื่อรัฐกลับให้ทบทวน ต้องมาดูรายละเอียดและต้องหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง “บอร์ดไตรภาคีเห็นชอบปรับขึ้น 2-16 บาทต่อวันหรือเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 2.37% ภาพรวมถือว่าต้นทุนสูงขึ้นอยู่แล้ว พบว่า 46 กลุ่มอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท.มีการจ้างแรงงานเข้มข้นถึง 50% หรือ 23 กลุ่ม เช่น อุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูป สิ่งทอ ฯลฯ แต่หากการทบทวนจะมองไปที่ 400 บาทต่อวัน เป็นการกดดันหนักขึ้น ผู้ประกอบการจะอยู่ยากขีดความสามารถการแข่งขันไทยจะลดลง โดยเฉพาะสินค้าในประเทศเองโดนดัมพ์ราคาจะยิ่งกดดันหนักขึ้นและที่สุดต้องปิดกิจการ” นายเกรียงไกรกล่าว

ขู่เอกชนใช้หุ่นยนต์คนจะตกงานอื้อ

นายเกรียงไกรกล่าวอีกว่า การปรับขึ้นค่าแรงจะส่งผลให้การจ้างงานลดลง ผู้ประกอบการจะลดต้นทุนเพื่อลดภาระและอีกส่วนจะทำให้เกิดการหันไปใช้ระบบหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติแทนคนเพิ่มขึ้น จะไม่ส่งผลดีต่อแรงงานในระยะยาว เพราะจะตกงานเพิ่ม ขณะเดียวกันการที่ประเทศไทยมีต้นทุนต่างๆที่เพิ่มทั้งค่าไฟฟ้าที่สูงกว่าเพื่อนบ้าน ค่าแรงและความเสียเปรียบ ที่มีการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) น้อยกว่าเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม ที่สุดเมื่อปัจจัยเหล่านี้รวมกันทำให้การลงทุนหันไปลงทุนยังประเทศเพื่อนบ้านแทน ประเด็นเหล่านี้ต้องติดตามใกล้ชิด แม้จะไม่ได้เกิดขึ้นทันทีแต่จะค่อยๆเปลี่ยนไป

“อ้วน” ยังไม่คิดดึงใครร่วม รบ.เพิ่ม

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ให้สัมภาษณ์กรณีพรรค ประชาธิปัตย์เปลี่ยนกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ชุดใหม่ มีนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็นหัวหน้าพรรค จะปรับ ครม.หรือไม่ว่า ไม่เกี่ยวกัน เป็นเรื่องของพรรค ปชป. ครม.เดินหน้าทำงานต่อไปไม่มีอะไร ตอนนี้ พรรคร่วมรัฐบาลทำงานร่วมกันด้วยดี คุยกันดี 314 เสียง ขณะนี้ทำงานได้อยู่ เอาใครมาเพิ่มหรือไม่เอา ไม่ใช่เรื่องต้องเอามาคิด เมื่อถามว่าจะยังไม่มีการ ปรับ ครม.เร็วๆนี้ใช่หรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ยังไม่คิดอะไรทั้งนั้น วันนี้ ครม.ยังทำหน้าที่เต็มที่ ยังคุยกันรู้เรื่องดีทุกฝ่าย ร่วมมือกันทำงานเต็มที่ทุกพรรค ต่างพึ่งพาซึ่งกันและกัน มีงานเกี่ยวข้องกับกระทรวงไหนประสานงานกันได้เต็มที่ ไม่มีปัญหาอะไร พรรคร่วมรัฐบาลทำงานกันดีอยู่แล้ว

“อนุทิน” ไม่กังวลเพิ่มอำนาจในมือ พท.

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงกรณีมีการมองว่าพรรค พท.จะมีอำนาจต่อรองกับพรรคร่วมรัฐบาลมากยิ่งขึ้น และอาจดึงพรรค ปชป.เข้ามาร่วมรัฐบาลว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็นเพื่อนตน หากคิดแต่การต่อรอง ไม่ใช่รัฐบาลแล้ว เราอยู่ตรงนี้มีเสียง 314 เสียงแล้ว คงไม่มีใครไปต่อรอง อะไร ทำงานให้เต็มที่ดีกว่า ต่างคนต่างทำงาน ผลงาน เกิดกับรัฐบาล หากมีคำว่าต่อรองเข้ามาถือว่าไม่ใช่ พวกเดียวกันแล้ว 253 เสียงของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ รอดมา 4 ปี ตลอดรอดฝั่ง ผ่านวิกฤตการณ์มากมาย แต่อยู่มาได้เพราะมีเจตนารมณ์เดียวกัน ทำงานให้บ้านเมือง เป็นส่วนสำคัญมากกว่า เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่ว่าพรรค พท.จะใช้เกมนี้ต่อรองกับพรรคร่วมรัฐบาล นายอนุทินกล่าวว่า ไม่กังวล เราทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด

“ราเมศ” ปลุกรวมใจฟื้นฟูพรรค

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรค ปชป.กล่าวถึงกรณีสมาชิกพรรค ปชป.ทยอยลาออกว่า เคารพการตัดสินใจ แต่ต้องย้ำว่าเมื่อผ่านกระบวนการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรค ตามกฎหมายและข้อบังคับพรรคแล้ว ทุกคนมีหน้าที่รับผิดชอบ ทำงานฟื้นฟูพัฒนาพรรคให้ก้าวเดินต่อ เวลาและการทำงานจะเป็นเครื่องพิสูจน์ พรรคพร้อมรับฟังทุกความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่จุดหมาย ที่สำคัญคือการพัฒนาพรรคให้ดีขึ้น ขอให้สมาชิกรวมใจร่วมกัน ทำงานสนับสนุนให้พรรคก้าวไปสู่ความมั่นคงต่อไป

เลือดไหลออกไม่หยุด “อานิก” ไขก๊อก

วันเดียวกัน นางอานิก อัมระนันทน์ อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชป.โพสต์เฟซบุ๊ก ประกาศลาออก จากสมาชิกพรรค ระบุว่า อาสาตัวเข้ามาช่วยงานพรรค หลังเลือกตั้งปี 2548 ต้องการเป็นอีกแรงที่ร่วมต้านระบอบทักษิณ ต่อมาเป็นผู้สมัครในบัญชีรายชื่อและ มีโอกาสทำงานในสภาฯ 2 สมัย ในการเลือกตั้งปี 2550 ได้ช่วยหาทุนอย่างสบายใจและมั่นใจว่า เรากำลังชวน ผู้คนสนับสนุนพรรคการเมืองที่ดีที่สุด เป็นประชาธิปไตย ทั้งภายในพรรคและพรรคของนักการเมืองอาชีพ ไม่ใช่ธุรกิจการเมืองอย่างที่เห็น การเปลี่ยนแกนนำเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. แสดงให้เห็นว่า ประชาธิปัตย์ลดความ เป็นสถาบันลงไปมาก ทั้งมีเสียงพร่ำอยากร่วมรัฐบาลพันทาง ที่มีทั้งพรรคของทักษิณ และพรรคสืบทอดอำนาจรัฐประหาร ในปัจจุบันไม่ใช่พรรคการเมืองที่ดิฉันภาคภูมิใจที่จะเป็นสมาชิกเสียแล้ว

“ตุ๋ย” ติ๊ดชึ่งกระแสคน ปชป.แห่ซบ

เมื่อเวลา 13.40 น. ที่ทําเนียบรัฐบาล นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนักการเมืองหลายคนลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) มีใครจะย้ายมาร่วมกับพรรค รทสช.บ้างหรือไม่ว่า “ไม่รู้ ไม่มี ไม่เห็นมีใครติดต่อมา เขาคงอยู่พรรคมั้ง ผมไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยว มันคนละพรรคแล้ว” ผู้สื่อข่าวถามยํ้าว่า ถ้ามีจะเปิดรับหรือไม่ นายพีระพันธุ์ยิ้มและกล่าวว่า “ยังไม่มี”

พท.ไม่รับมุก “นิกร” ดันชง ก.ม.นิรโทษ

อีกเรื่องนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะแกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีนายนิกร จำนง ประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 เสนอแนะให้เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในนามพรรคร่วมรัฐบาลว่า ตรงนี้เป็นเรื่องของนายนิกร เพราะยังไม่เห็นว่าร่างเป็นอย่างไรและยังไม่ได้คุยกัน ถ้านายนิกรจะทำแบบนั้นจริงๆคงต้องเสนอมาคุย โดยเราจะดูตามเนื้อผ้าว่าจะเป็นอย่างไร

“ชูศักดิ์” ดึงเช็งเล็งตั้ง กมธ.ศึกษา

นายชูศักดิ์ ศิรินิล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์กรณีพรรค พท. เตรียมยื่นญัตติด่วนขอให้สภาฯตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาเรื่องการเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมว่า การจะเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ควรศึกษาให้ถ่องแท้เป็นรูปธรรมก่อนว่าสมควรจะเสนออย่างไร ไม่ควรเสนอโดยไม่หารือกัน ควรให้วิปแต่ละพรรคเสนอญัตติต่อสภาฯให้ตั้งคณะ กมธ.วิสามัญ ประกอบด้วยสมาชิกแต่ละพรรคมาพิจารณาก่อน ไม่สามารถทำโดยลำพังได้ การที่ร่าง พ.ร.บ.นี้จะผ่านสภาฯต้องเห็นพ้องต้องกันทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน วิธีดีสุดคือพิจารณาให้ถ่องแท้ว่าสมควรจะนิรโทษกรรมหรือไม่ จะนิรโทษกรรมเรื่องใด ครอบคลุมเพียงใด หากร่างขึ้นมาคลุมเครือ ท้ายที่สุดจะกลายเป็นเรื่องขึ้นมาอีก พรรค พท.เห็นด้วยในหลักการการทำให้บ้านเมืองเกิดความปรองดอง แต่เรายังไม่ได้ยกร่าง อยากฟังความเห็นจากทุกพรรคก่อน เวลาเสนอกฎหมายเข้าสภาฯจะได้พิจารณาเรียบร้อย ไม่สร้างความแตกแยกขยายขึ้นไปอีก ต้องระวังจุดนี้เป็นประเด็นอ่อนไหว คุยกันก่อนในคณะ กมธ.วิสามัญจากทุกพรรค ไม่ใช่เสนอไปแล้วทำให้สังคมแบ่งฝั่งแบ่งฝ่ายอีก

“สุทิน” หวั่นครหานิรโทษ “ทักษิณ”

นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม กล่าวถึงการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของพรรคก้าวไกลว่า ยอมรับว่าเรื่องนี้พรรค พท.วางตัวลำบาก ไม่เหมือนพรรคอื่นเพราะเราจะมีส่วนได้เสีย แม้เราจะไม่ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.นี้ แต่เราไม่คัดค้านพร้อมยินดีสนับสนุน แต่ขอให้ไปดูในเนื้อหาสาระหากเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย และสังคมเข้าใจได้เราสนับสนุน เรื่องนี้ละเอียดอ่อนต้องระมัดระวัง พรรค พท.ระมัด ระวัง ต้องคิดอย่างสุขุมรอบคอบ เมื่อถามถึงกรณีกรมราชทัณฑ์ออกระเบียบใหม่ว่าด้วยการคุมขังนักโทษนอกสถานที่เรือนจำ มองว่าเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ นายสุทินตอบว่า “นั่นแหละเราถึงต้องระมัดระวัง เพราะมีสิทธิ์โดนทั้งขึ้นทั้งล่อง”

พปชร.เอาด้วยเปิดเวทีถกเถียง

เมื่อเวลา 15.00 น. ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรค พปชร.เป็นประธานประชุม สส.พรรค จากนั้นนายอรรถกร ศิริลัทธยากร สส.ฉะเชิงเทรา โฆษกพรรค พปชร.เปิดเผยว่า ที่ประชุมพรรคมีความเห็นกรณีวิปรัฐบาล พรรคเพื่อไทย (พท.) จะยื่นญัตติด่วนขอให้ตั้งคณะ กมธ.วิสามัญศึกษาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ถือเป็นเรื่องที่ดี หากยื่นญัตติด่วนเข้ามาเมื่อไหร่ พรรค พปชร.จะยื่นญัตติด่วนประกบด้วยเพื่อให้ตั้ง กมธ.เพื่อเป็นเวทีให้ทุกฝ่ายหาทางออกที่ดีที่สุด ส่วนกรณีฝ่ายค้านจะขอเลื่อนพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบฯปี 2567 ต้องดูว่า สส.ในสภาฯส่วนใหญ่พร้อมเมื่อไหร่ คงเดินหน้าให้เร็วที่สุด

เจ้าหนี้บุกทำเนียบฯชกผู้ช่วย สส.

ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า เมื่อเวลาประมาณ 11.35 น.ช่วงเลิกประชุม ครม. อยู่ๆนายอิทธิพล (สงวนนามสกุล) ขับรถปอร์เช่ป้ายแดงขอเข้าไปจอดภายในทำเนียบฯ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่อนุญาต เนื่องจากไม่มีบัตรอนุญาตให้เข้าทำเนียบฯ กระทั่งนายอิทธิพลอ้างว่าเป็นคณะทำงานของนายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกฯฝ่ายการเมือง จะมาพบนายสมคิด ถึงอนุญาตให้เข้าไปภายในทำเนียบฯ ก่อนขับรถวนไปจอดบริเวณร้านกาแฟ APCD 60+plus คาเฟ่ หลังตึกสันติไมตรี ที่มีผู้ช่วย สส.ของนายชูชัย มุ่งเจริญพร สส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย กับเพื่อนอีก 1 คน นั่งอยู่ก่อนแล้ว จากนั้นนายอิทธิพล ลงจากรถปรี่เข้าไปหาทันที พูดว่า “มึงจะเอาอะไรกับกู” ก่อนใช้กำปั้นชกที่ท้ายทอย 1 ครั้ง สร้างความแตกตื่นให้กับลูกค้าที่มาซื้อและนั่งกินกาแฟ ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ตำรวจที่นั่งประจำการเพื่ออารักขาขบวนรถนายกฯที่จะวิ่งผ่านไปพบกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรที่ประตู 5 ทำเนียบฯ พากันเข้าไประงับเหตุแยกออกจากกัน ก่อนโทร.ประสานตำรวจ สน.ดุสิต ให้เชิญตัวไปตกลงกันที่โรงพัก เบื้องต้นจากการตรวจสอบพบว่า มีปัญหาขัดแย้งกันเรื่องเงินที่ติดหนี้กันอยู่

“สมคิด” ยอมรับเคยเจอครั้งเดียว

นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายการเมือง กล่าวว่า ไม่ได้นัดนายอิทธิพลที่ติดบัตรอนุญาตรัฐบาลชุดก่อนเข้ามาก่อเหตุแอบอ้างมาพบตน แต่เคยเจอเพียงแค่ครั้งเดียวที่มากับนายเวียง วรเชษฐ์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีรัฐบาลที่แล้ว ไม่ทราบสาเหตุชกต่อย ได้กำชับ ผอ.กองสถานที่และรักษาความปลอดภัยทำเนียบฯ ให้ตรวจสอบการเข้าออกของผู้ติดตามบางส่วนที่ยังใช้บัตรอนุญาตเดิมผ่านเข้าออกแล้ว

ไฟเขียว 750 ล้านเยียวยาแรงงาน

เมื่อเวลา 13.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกฯแถลงผลการประชุม ครม.ว่า กระทรวงแรงงานได้เสนอที่ประชุม ครม.ขอใช้งบฯกลางปี 66 ไปพลางก่อน เพื่อใช้จ่ายเป็นเงินสำรองกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เยียวยาแรงงานไทยที่เดินทางกลับมาจากอิสราเอล ที่ขาดรายได้จากการประกอบอาชีพประมาณ 15,000 คน คนละ 50,000 บาท รวม 750 ล้านบาท มีผลตั้งแต่ ธ.ค.66-ก.ย.67 แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 แรงงานที่เดินทางกลับหลังวันที่ 7 ต.ค. 9,475 คน กลุ่มที่ 2 แรงงานที่เสียชีวิต 39 คน กลุ่มที่ 3 แรงงานเดินทางกลับมาก่อนวันที่ 7 ต.ค. ภายใต้เงื่อนไข Re- entry visa ที่ต้องกลับไปทำงานต่อ แต่เกิดสถานการณ์ความไม่สงบ ตกค้างอยู่ที่ไทย 960 คน และกลุ่มที่ 4 แรงงานที่คาดว่าประสงค์จะกลับเพิ่มเติม 4,526 คน

“อิ๊ง” รองบฯ ปั้นซอฟต์พาวเวอร์

ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นประธานเปิดงาน “Youth Power ขับเคลื่อน Soft Power” มี นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขานุการคณะ กรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ฯ และนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ เข้าร่วมงาน โดย น.ส.แพทองธารกล่าวว่า การพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นน้ำ เช่น การพัฒนาคน กลางน้ำคือปลดล็อกกฎหมายที่ล้าสมัย และปลายน้ำนโยบายต่างประเทศ เน้นสร้างแบรนด์ให้ประเทศไทย มุมมองของรัฐบาลซอฟต์พาวเวอร์ไม่ใช่เรื่องที่มีสูตรสำเร็จ และไม่ใช่เรื่องที่สามารถทำได้ภายใน 1-2 ปี แต่เมื่อเริ่มทำแล้ว รัฐบาลไม่หยุดแน่นอน เมื่องบฯปี 2567 พร้อมเราจะเดินหน้าได้ทันที

“ปิยบุตร” สิ้นหวังก้าวไกลได้แค่แซะ

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กว่า พรรค ก.ก. และนักการเมืองพรรค ก.ก.จะสู้กับสงครามทางความคิดรอบใหม่ ได้อย่างไร ในห้วงเวลาที่เขามีอำนาจรัฐ งบประมาณ และจะทำให้ดูให้ได้ด้วย ตนเห็นว่าถ้า สส.พรรค ก.ก. ยังคงใช้วิธีแบบเดิม เช่น ตามจับว่ารัฐบาลไม่ทำตาม ที่หาเสียงไว้ ทำไมรัฐบาลไม่ทำตามที่พรรค ก.ก.เสนอ แซะผ่านคำคม ภาพล้อเลียน ตามโลกโซเชียลแค่นี้ ไม่พอเอาชนะสงครามทางความคิด ถ้ายังคงสู้ด้วย การอธิบายแค่ว่า ตระบัดสัตย์ ไม่ทำตามที่หาเสียง ทำเท่านี้ได้แค่ทำลายความชอบธรรม แต่ไม่สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ไม่สร้างความหวังให้ผู้คนว่า พรรคและ สส. มีหน้าที่ ทำให้คนมหาศาลเชื่อได้ว่าสิ่งที่พรรค ก.ก.เสนอ เป็นไปได้ในวันพรุ่ง ทำให้คนมีความหวัง วาดภาพให้เห็น เป็นรูปธรรม ถ้า 4 ปีนี้ยังทำไม่ได้หรือไม่มากพอแล้ว จะหาคะแนนเสียงเพิ่มอีก 6-7 ล้านจากไหน

“หมอเฉลิมชัย” ลาออกทิ้งเก้าอี้ สว.

เมื่อเวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภา มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม หลังจากที่ประชุมรับทราบพระบรมราชโองการประกาศพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาสมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 2 พ.ศ.2566 แล้ว นายพรเพชรแจ้งว่า นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ ขอลาออกจากตำแหน่ง สว. ทำให้เหลือ สว.ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 244 คน ทำให้องค์ประชุมสว.เหลือ 122 คน

สว.ไฟเขียว “สุเมธ” นั่งศาล รธน.

จากนั้นเข้าสู่วาระการพิจารณาให้ความเห็นชอบ ของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญ ตามที่คณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรม ทางจริยธรรมของบุคคล ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญ ได้ตรวจสอบประวัตินายสุเมธ รอยกุลเจริญ รองประธานศาลปกครองสูงสุด ที่ได้รับ การเสนอชื่อเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และส่งมาให้ ที่ประชุมวุฒิสภาลงมติจะให้ความเห็นชอบหรือไม่ ทั้งนี้ ภายหลังการประชุมลับ ที่ประชุมวุฒิสภามีมติเห็นชอบนายสุเมธเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วยคะแนน 207 ต่อ 3 ไม่ออกเสียง 4

นายกฯปลุกสานภารกิจปั้นเจ้าสัวน้อย

เมื่อเวลา 18.30 น. ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติ สิริกิติ์ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯและ รมว.คลัง เป็นประธานงานเลี้ยงเนื่องในวาระครบรอบ 45 ปี บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยนายกฯกล่าวตอนหนึ่งว่า ยินดีที่ได้รับเชิญมาเป็นประธานในการเฉลิมฉลองการครบรอบ 45 ปี ของบริษัทที่ยิ่งใหญ่ ที่สุดในประเทศไทย เป็นบริษัทที่นำธงชาติไทยไปปักในหนังสือ นิตยสารฟอร์จูน แมกกาซีนและเคยไต่เต้าถึงระดับท็อป 100 ของโลก เติบโตอย่างยั่งยืน เป็นหน้าเป็นตาเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย ร่วมกับรัฐบาลขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคม การดูแลประชาชนคนไทยทุกคน ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติเศรษฐกิจครั้งไหน ยืนเคียงข้างคนไทย เป็นบริษัทที่ไม่ได้คำนึงถึงผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นอย่างเดียว แต่ยกระดับความเป็นอยู่ความสุขสบายของประชาชน ด้วยงบดุลบริษัทที่แข็งแกร่งมาก สิ่งที่อยากเห็นคือบริษัท ปตท.ไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น นำพาผู้มีความรู้จากไทย ไปร่วมทุนไปเจรจาการค้า ไปพัฒนาประเทศด้วยทุนคนไทย และมีส่วนปั้นพัฒนาเยาวชนที่เพิ่งเข้ามาวงการธุรกิจ ให้เป็นเจ้าสัวน้อยให้ได้

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่