มาช้ายังดีกว่าไม่มา ตามประกาศอย่างเป็นทางการของกรมอุตุนิยมวิทยาประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว ตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป
คาดการณ์อากาศหนาวเย็นน้อยกว่าปีที่แล้ว
แนวโน้มอุณหภูมิจะลดลงวูบวาบ 4-7องศาฯ ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนและภาคอีสาน ส่วนภาคกลางและกรุงเทพมหานครรู้สึกได้ถึงความเย็น
เป็นความรู้สึกของบรรยากาศในห้วงส่งท้ายปลายปี
ตามจังหวะกระตุ้นให้ประชาชนคนไทย ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ลูกจ้างห้างร้านบริษัทเอกชน ได้เริ่มสะสางงาน
เตรียมเข้าโหมดเทศกาลหยุดยาวห้วงปีใหม่
ในขณะที่ฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะรัฐบาลก็ต้องเร่งปั่นเนื้องานเพื่ออวดชาวบ้าน เตรียมของขวัญให้คนไทยตามประเพณี
มาตรการลด แลก แจก ฟรี ต้องจัดให้ตรงเทศกาล
ภายใต้เงื่อนไขสถานการณ์ที่รัฐบาลผสมเพื่อไทย ภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯและ รมว.คลัง เพิ่งส่งการบ้านในรอบ 60 วัน บริหารราชการแผ่นดินผ่านมา 2 เดือน ย่างเข้าเดือนที่สาม

ตามจังหวะต้องเร่งเครื่อง 100 วัน กู้ปัญหาปากท้อง
...
โจทย์ทดสอบด่านแรก วัดกึ๋นของนายเศรษฐา ที่ต้องแบกความคาดหวังหนักอึ้ง ตามฟอร์มของยี่ห้อเพื่อไทยที่โชว์จุดขายในการบริหารเศรษฐกิจ
แถมยังต้องปิดจุดด้อยทางการเมืองในการตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว
แบบที่นายเศรษฐากดปุ่ม ครม.จัดโปรโมชันให้รัวๆซื้อใจคนรากหญ้า ทั้งหั่นค่าไฟฟ้า ลดราคาแก๊สหุงต้ม ดัมพ์ราคาน้ำมัน ฯลฯ
ลดค่าครองชีพ ช่วยประคองปากท้องชาวบ้านหาเช้ากินค่ำ
สูตรสำเร็จในการบริหารประเทศที่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูง
แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ไม่ได้มีเงินถุงเงินถัง รัฐบาลมีแต่รายจ่าย ไม่มีรายรับเข้ามาชดเชยโปรโมชันประชานิยม
อัดฉีดไหลออกทางเดียว เดี๋ยวคลังก็ถังแตก
แจกเก่งอย่างเดียวไม่ได้ ต้องหาเงินเป็น ผู้นำจึงต้องกระชับภาพของ “เซลส์แมน” เร่ขายโปรเจกต์ โชว์โครงการดึงนักลงทุนต่างชาติ แบบที่เห็นทริปล่าสุดนายเศรษฐาบินไปร่วมประชุมเอเปก ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา
นายกรัฐมนตรีโชว์จีบธุรกิจยักษ์ ชักชวนกลุ่มทุนรถยนต์ไฟฟ้า บริษัทด้านไอทีระดับโลก มาปักหมุดลงทุนในเมืองไทย
รวมๆตัวเลขกลมๆแล้ว กว่า 8.5 แสนล้านบาท
โอกาสลุ้น ถึงเวลาจริง ชิงจากอินโดนีเซียคู่แข่งสำคัญมาได้แค่ครึ่งหนึ่งก็จะสามารถดึงเม็ดเงินลงทุนมาหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจ ติดเครื่องยนต์หลักในการสร้างรายได้
และจะเป็นแรงส่ง “เรือธง” ของรัฐบาลเพื่อไทย

ณ จุดที่โครงการเทกระจาด “ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท” มีความชัดเจนจากการถือเดิมพันของนายเศรษฐา ประกาศข้าพเจ้ารับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว
เดินหน้าออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านมาแจกคนไทยกว่า 50 ล้านคน
ไม่ถอย ไม่เบี้ยว แม้จะไม่ตรงปก จากที่ทีมเพื่อไทยยืนยัน ไม่ต้องกู้ ไม่กระทบระบบงบประมาณ แจกแบบเทกระจาดอายุ 16 ปีขึ้นไปได้หมด ต้องปรับลดเป้าหมาย เพิ่มเงื่อนไขคนได้รับ และหนีไม่พ้นต้องออกกฎหมายกู้เงินผ่านสภา ผูกกับระบบงบประมาณ
ตามเส้นทางคดเคี้ยวอ้อมไป อ้อมมา
และต้องฝ่าแนวต้าน ผจญสารพัดด่านโหดหิน เริ่มตั้งแต่ชั้นแรก ด่านคณะกรรมการกฤษฎีกาในฐานะที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล ต้อง “สแกน” ให้ถ้วนถี่
ตีความ พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านมาแจก ขัดกฎหมายหรือไม่
ถัดมาก็ด่านของพรรคร่วมรัฐบาล เต็มใจแค่ไหนในการร่วมด้วยช่วยกันลาก “เรือธง” ของพรรคเพื่อไทย ฝ่ามรสุมพลิกคว่ำตายหงายเป็น
และมันก็เป็นโอกาสทองในการคิดค่าเสี่ยงภัยกันสูงๆ
ไม่มีของฟรีในเกมอำนาจการเมืองแบบไทยๆ
ต่อเนื่องมาถึงด่านของฝ่ายค้าน โดยเฉพาะฟอร์มแกร่งๆของทีมก้าวไกล ที่เปิดพื้นที่ให้ “น้องไหม” น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค กัปตันทีมเศรษฐกิจ ไล่ต้อนหน้าต้อนหลัง
ดักคอรัฐบาลเพื่อไทยแค่หาทางลง อาศัยยืมมือองค์กรอื่นตีตกโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตฯ เพื่อไม่ต้องรับผิดชอบสัญญาหาเสียง
ทีมส้มไม่ได้ขัดขวาง แค่ดักทางรู้ทัน ยังทำรัฐบาลปั่นป่วน
หรือด่านของสมาชิกวุฒิสภา ประเมินจากท่าทีของตัวตึง ตัวจี๊ดอย่างนายคำนูณ สิทธิสมาน นายสมชาย แสวงการ ส.ว.ลากตั้ง ที่รวมพลสกัดเรือธงเพื่อไทย ขวางลำการกู้เงินแจกประชานิยม ซ้ำรอยจำนำข้าว
ตั้งท่าทิ้งทวน ฝากเป็นที่ระลึกก่อนครบวาระในกลางปีหน้า 2567
พรรคร่วมรัฐบาล ฝ่ายค้าน สมาชิกวุฒิสภา กว่าจะลากเรือธงผ่านได้ นายเศรษฐาและทีมเพื่อไทยต้องออกแรงหนัก
และจังหวะเสี่ยงหักกลางลำ มันอยู่ที่ด่านองค์กรอิสระ
ทั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่สั่งตั้งทีมงานเฉพาะกิจติดตาม “เรือธง” ของพรรคเพื่อไทย โดยคนหน้าคุ้นๆอย่าง น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. มือปราบทุจริตจำนำข้าว เป็นหัวขบวน
ปฏิบัติการ “เดจาวู” ขู่กันจะจะ ซึ่งๆหน้า
อีกด้านก็เป็นนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ตั้งแท่นชงให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ลงดาบพรรคเพื่อไทย
โทษฐานไม่ตรงปก โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ไม่ตรงกับที่ประกาศบนเวทีหาเสียง ลากเข้าเงี่ยง เสี่ยงเข้าข่ายการหลอกลวงให้ได้มาซึ่งคะแนนเลือกตั้ง
เล่นแรงถึงขั้นยุบพรรค จ้องพังทั้งกระดาน
แต่ทั้งหมดทั้งปวง ด่านที่เป็นจุดสกัดที่ทุกฝ่ายคาดการณ์จริงๆอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ตามรูปการณ์ไม่น่าจะผิดคาดหมาย
เรือธงพรรคเพื่อไทย หนีไม่พ้นโดนลากไปลุ้นพลิกคว่ำพลิกหงาย
และก็บังเอิญสัญญาณแปร่งๆจากการเผยแพร่อินโฟกราฟิก กรณี สส. สว. กรรมาธิการกระทำการเพื่อให้ตนมีส่วนโดยตรงหรือโดยอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย จะกระทำมิได้ กรณีมีข้อสงสัยว่าการฝ่าฝืนข้อห้ามดังกล่าวหรือไม่ สามารถส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ออกมาในจังหวะคาบลูกคาบดอก ให้แปลความจับสัญญาณ งานนี้หมายรวมถึงโครงการกู้เงินมาแจกของรัฐบาลเพื่อไทยด้วยหรือไม่
ศาลรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. ไปยัน กกต. เดิมพันเสี่ยง โทษอาญา โทษทางแพ่ง โทษแบนทางการเมือง
ตามท้องเรื่อง เกมลาก “เรือธง” ต้องมีค่าใช้จ่ายสูงลิ่ว
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น โดยสิทธิ์ขาดมันก็อยู่ที่นายเศรษฐา ในฐานะผู้นำรัฐบาล ถืออำนาจสูงสุดในการบริหารราชการแผ่นดิน

ถ้ามั่นใจอย่างที่ยืนยันว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยอยู่ในจุดดำดิ่ง จำเป็นต้องเร่งอัดฉีดเงินกู้ 5 แสนล้านเข้าระบบ เพื่อกระตุ้นจีดีพีให้โงหัว หักมุมกับทีมนักเศรษฐศาสตร์ที่ค้านการหว่านเงินดิจิทัลฯ เพราะมองว่า เศรษฐกิจไทยไม่จำเป็นต้องกระตุ้น แค่ประคองเสถียรภาพการเงินการคลัง
มันก็จัดเป็นไฟต์บังคับทางเศรษฐกิจที่จำเป็นเลี่ยงไม่ได้
และถ้าสำเร็จก็หมายถึงเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทย การกินดีอยู่ดีของคนรากหญ้า ส่งผลอานิสงส์โดยตรงกับคะแนนนิยม การฟื้นศรัทธาพรรคเพื่อไทย
แต่หากไม่เป็นดังหวัง ก็ต้องรับสภาพย้อนศรตรงกันข้าม.
“ทีมการเมือง”
คลิกอ่านคอลัมน์ "วิเคราะห์การเมือง" เพิ่มเติม