“การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก” ถือเป็น มิติใหม่ของวงการทูตไทย ที่หันมาเน้นเรื่องเศรษฐกิจมากกว่าเรื่องการเมือง เป็นนโยบายใหม่ของ รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ที่ ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศ เปิดเผยในงานสัมมนา Thailand Next Move 2024 : The Next Wealth and Sustainability ของ วารสารการเงินธนาคาร ในโอกาสก้าวขึ้นสู่ปีที่ 43 เมื่อวันศุกร์ในหัวข้อ “บริบทใหม่ของประเทศไทยในเวทีโลก” (Thailand New Growth Path 2024) และวันที่ 21–23 พฤศจิกายนนี้ นายกฯเศรษฐา ได้เรียก เอกอัครราชทูตไทยทั่วโลก รวมทั้ง ทูตพาณิชย์ กลับมาประชุมเชิงปฏิบัติการภายใต้นโยบาย “การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก” เพื่อให้ทูตไทยร่วมเป็น “ทีมไทยแลนด์” ช่วยขยายการส่งออกของประเทศไทยที่ถดถอยมานาน

ดร.ปานปรีย์ กล่าวว่า บทบาทและเส้นทางของไทยในบริบทโลกที่แบ่งเป็นหลายขั้วอำนาจแข่งขันกัน ทั้งด้าน Geo-politics, Geo-ecomomy และ Geo-technology รวมทั้ง การแบ่งขั้วของห่วงโซ่อุปทาน เป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย

การวางจุดยืนของไทย ท่ามกลางความขัดแย้งและบริบทของเศรษฐกิจโลกที่แบ่งขั้ว สำคัญที่สุดก็คือไทยไม่ได้เป็นผู้ขัดแย้งหรือเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งใดๆ และดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ อย่างมีดุลยภาพ แต่ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์สามารถปะทุและยกระดับไปสู่ความรุนแรงและความสูญเสียได้ทุกเมื่อ การวางจุดยืนที่ไม่โน้มเอียงไปทางใดทางหนึ่ง จำเป็นต้องมีจังหวะสำหรับการบริหารจัดการสถานการณ์และเงื่อนไขต่างๆ เพื่อเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจ ไทยต้องสร้างเครื่องยนต์ขับเคลื่อนตัวใหม่และศักยภาพใหม่ ให้เป็นที่ประจักษ์ไปทั่วโลก ประเทศไทยไม่ใช่แค่ Destination ด้านการค้าและการลงทุน เท่านั้น แต่เป็นจุดสำคัญในการเชื่อมโยงการขนส่งไปทั่วโลก

...

ดร.ปานปรีย์ กล่าวว่า บริบทใหม่ของเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป ต้องมี 3 มิติ และ ภาคการเงินการธนาคาร จะมีบทบาทอย่างมากในการส่งเสริมทั้ง 3 มิติ คือ

1.Green Growth การเข้าถึงบริการการเงินและแหล่งเงินทุนที่จำเป็น สำหรับปรับขบวนการผลิตสินค้าและบริการที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

2.lnnovation-driven Growth การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ

3.Community-based Growth การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs และเศรษฐกิจชุมชน

“รัฐบาลจะใช้ “การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก” เป็น “หัวหอก” ของ การทูตไทยยุคใหม่ ในการแสวงหาโอกาสทางด้านเศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนานวัตกรรม การพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และการส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ”

ดร.ปานปรีย์ กล่าวถึงโครงการ “แลนด์บริดจ์” ว่า จะเป็นแม่เหล็กใหม่ของไทย ซึ่งจะช่วยเปลี่ยนแปลงหรือลดความรุนแรงด้านภูมิรัฐศาสตร์ในประเทศต่างๆให้กลับมามุ่งเน้นเรื่องการค้าขายบนพื้นฐานของความเป็นธรรม มีไทยเป็นจุดเชื่อมโยงการขนส่งที่สำคัญไปทั่วโลก การไปเยือนสหรัฐฯของ นายกฯเศรษฐา และ รองนายกฯ ดร.ปานปรีย์ เพื่อร่วม การประชุมสุดยอดผู้นำ APEC ซึ่งให้ความสำคัญกับประเด็น Sustainable Finance กลางเดือนพฤศจิกายนนี้ รัฐบาล จะเชิญชวนให้นักลงทุนต่างชาติร่วมลงทุนในพันธบัตรสีเขียว Sustaina bility Linked Bonds วงเงินประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีหน้าด้วย

สำหรับ ก้าวต่อไปของบริบทประเทศไทยบนเวทีโลก ท่ามกลางความขัดแย้งหลายขั้ว ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ และรัฐมนตรี ต่างประเทศ กล่าวว่า

“ไทยต้องมีความครบเครื่อง จุดยืน ความยืดหยุ่น ความพร้อมที่จะผงาดขึ้นมาอย่างเข้มแข็ง และ ต้องสร้าง “ภูมิต้านทาน” เพื่อเตรียมรับมือกับความผันผวนต่างๆ ภาครัฐและภาคเอกชนต้องร่วมมือกัน เพื่อพลิกฟื้นความเจริญรุ่งเรืองกลับมาสู่ประเทศไทย”.

“ลม เปลี่ยนทิศ”

คลิกอ่านคอลัมน์ "หมายเหตุประเทศไทย" เพิ่มเติม