นิติสงครามและการฟื้นคืนชีพไอทีวีเป็นความจริง หรือเป็นเพียงวาทกรรม การเมืองที่อิงนิยาย ผู้สนใจติดตามได้จากกรณีหุ้นสื่อมวลชนที่พลิกไปพลิกมา ระยะแรกเริ่ม พรรคก้าวไกล และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้สมัครนายกรัฐมนตรีของพรรค ถูกฝ่ายตรงข้ามถล่มเละ แต่ขณะนี้กลายเป็นฝ่ายโต้กลับด้วยอภินิหารของคลิป
นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล แถลงว่า มีความขัดแย้ง ระหว่างคลิปการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2566 กับรายงานการประชุมผู้ถือหุ้น ในคลิปการประชุม ผู้ถือหุ้น คนหนึ่งถามว่า ไอทีวียังดำเนินกิจการ สื่อมวลชนอยู่หรือไม่ ได้รับคำตอบจากประธานว่าขณะนี้ไอทีวีไม่ได้ทำกิจการสื่อ
ขัดกับรายงานการประชุมที่เป็นลายลักษณ์อักษร ที่ระบุว่า ไอทีวียังดำเนินกิจการสื่ออยู่ ความขัดแย้งนี้เข้าทางนายพิธาที่ถูกร้องกล่าวหาว่าถือหุ้นสื่อมวลชน เป็นผู้ต้องห้ามสมัคร ส.ส. และห้ามเป็นนายกรัฐมนตรี นายพิธายืนยันว่าไอทีวีถูกสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐ มนตรี (สปน.) บอกเลิกสัญญาร่วมดำเนิน การกับไอทีวี
ทำให้ไอทีวีไม่สามารถดำเนินกิจการโทรทัศน์ ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2550 และนายพิธาได้รับคำสั่งศาลให้เป็นผู้จัดการมรดกบิดา ถือหุ้นไอทีวีมาตั้งแต่เดือนนั้น มีคลิปรายงานการประชุมยืนยันไอทีวีไม่ได้ดำเนินกิจการสื่อ แต่รายงานการประชุมกลับตรงกันข้าม นายชัยธวัชขู่ว่าจะฟ้องขบวนการปลุกผีไอทีวี
ฟ้องใคร? ด้วยข้อหาอะไร? นักกฎหมายบางคนเสนอให้ฟ้องขบวนการฟื้นคืนชีพไอทีวี เพื่อเตะตัดขานายพิธา ตาม พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ม.143 ฐานกระทำการอันเป็นเท็จ เพื่อแกล้งผู้สมัคร ส.ส.ให้ถูกเพิกถอนสิทธิการสมัครรับเลือกตั้ง มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 10 ปี และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี
...
มีคำถามว่า นายพิธาหรือพรรคก้าวไกล จะ “เอาคืน” กกต.ได้หรือไม่ เพราะ กกต.ยกคำร้องเรื่องนายพิธาถือหุ้นสื่อ แต่เตรียมฟ้องตาม พ.ร.ป.เลือกตั้ง ม.151 กล่าวหาว่ารู้ตัวว่าไม่มีสิทธิ แต่ยัง สมัคร ส.ส.มีโทษจำคุก 1 ถึง 10 ปี เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี กกต.ฟันธงว่า นายพิธาเป็นผู้ต้องห้ามจริงใช่หรือไม่
แต่นายพิธายังยืนยันปฏิเสธ ไม่ได้ถือหุ้นสื่อมวลชน เพราะขณะที่ตน ถือหุ้นไอทีวีไม่ได้เป็นสื่อมวลชน ขณะนี้ก็ยังไม่อาจดำเนินกิจการสื่อได้ เพราะยังมีคดีความกับ สปน.ที่ยืดเยื้อมากว่า 16 ปี หวังว่าพรรคก้าวไกลจะได้ใช้ความพยายาม อย่างเต็มที่ เพื่อกระชากหน้ากากขบวนการที่ขัดขวางวิถีทางประชาธิปไตย.