ต้องเข้าใจก่อนว่า การร้องตรวจสอบคุณสมบัติในการลงรับสมัคร ส.ส. ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ว่าที่นายกฯคนที่ 30 ของประเทศไทย กับเรื่องการร้อง ถือหุ้นสื่อ ของ พิธา ขัดกับคุณสมบัติการเป็น ส.ส. คือเรื่องเดียวกัน เพียงแต่ต่างกรรมต่างวาระกันเท่านั้น

เพราะฉะนั้น กรณีที่เลขาธิการ กกต. แสวง บุญมี แถลงว่า กกต.จะมีการประกาศรับรอง ส.ส.หลังจากมีการ นับคะแนนเขย่ง เรียบร้อยแล้ว จากนั้นจึงจะสอย ส.ส. แจกใบแดง ส.ส.ที่ขาดคุณสมบัติ รวมทั้งการยื่นตรวจสอบคุณสมบัติของ พิธา ด้วย ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 42(3) เรื่องการถือหุ้นสื่อ และมาตรา 151 เมื่อรู้ตัวเองว่าไม่มีสิทธิลงสมัคร ส.ส.แต่ยังลงสมัคร มีโทษร้ายแรง จำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับ 20,000-200,000 บาท และตัดสิทธิทางการเมือง 20 ปี จึงเป็นไทม์ไลน์ที่จะต้องติดตามห้ามกะพริบตา

เป็นขั้นตอนต่อไปที่ กกต.จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัย หลังจากประกาศรับรอง พิธา เป็น ส.ส. และ ศาลรัฐธรรมนูญ อาจจะมีคำวินิจฉัย ก่อน หรือ หลัง ที่จะมีการโหวต นายกฯในสภา ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญรวมถึงคำวินิจฉัยคุณสมบัติการเป็น ส.ส. หรือ ทั้งการเป็น ส.ส. และนายกฯด้วย

คดีการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ อดีต รมว.คมนาคม ที่ถูกสั่งพักงาน เพราะศาลรัฐธรรมนูญ อยู่ในระหว่างการวินิจฉัยตามคำร้องของประธานสภาต่อการถือหุ้นในบริษัทเอกชน ขัดกับคุณสมบัติการเป็น รมต.หรือไม่ ถ้าใช่ก็คงว่ากันยาวไป

เป็นกรณีตัวอย่างเช่นเดียวกับกรณีของพิธา ที่ถูกร้องขาดคุณสมบัติต้องห้ามการถือหุ้นสื่อ สมมติศาลเห็นว่า เข้าข่ายการถือหุ้นสื่อ ขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส.ก็ไม่ต้องไปถามถึงคุณสมบัติการเป็นนายกฯ ถึงโหวตได้เป็นนายกฯก็ถูกร้องเรื่องคุณสมบัติการถือหุ้นอยู่ดี และตามมาตรา 151 ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 20 ปี ไม่ว่าจะมีการโอนหุ้นไปแล้วหรือยัง ก่อนที่จะมีการโหวตนายกฯ หรือไม่ ก็ถูกปิดประตูตายเอาไว้หมดทุกด้าน

...

ดังนั้น คำร้องที่ บรรดานักร้อง 3-4 คน ที่ร้องไว้กับ กกต. หลังจาก กกต.รับรองคุณสมบัติในการลงรับสมัครเลือกตั้งของพิธา จึงไม่ค่อยถูกที่ถูกเวลา และ มีข้อกฎหมายให้โต้แย้งได้สารพัด การร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 151 จึง รวบรัดเบ็ดเสร็จ ตอกตะปูปิดฝาโลง เป็นสาเหตุหลักที่ กกต. ไม่รับคำร้องไว้พิจารณา

ประเด็นอื่นๆ ผิดข้อบังคับพรรค หรือ การปกปิดหนี้สิน ในการค้ำประกันหนี้เป็นเรื่องจิ๊บๆ แต่การ ถือหุ้นสื่อ ไอทีวี เป็นประเด็นที่สำคัญกว่า ขึ้นอยู่กับว่า พิธา จะยกเหตุผลในการชี้แจงกับศาลรัฐธรรมนูญอย่างไร

ก็ไปสู้กันในรายละเอียดของ ไอทีวี อีกที ยังดำเนินกิจการอยู่หรือไม่ เป็นกิจการเกี่ยวกับสื่อหรือไม่ มีผลประโยชน์หรือไม่ ระหว่างหลักรัฐศาสตร์กับหลักนิติศาสตร์ อะไรมีน้ำหนักมากกว่ากัน

และสุดท้ายแล้วจะกลายเป็นปัญหาน้ำผึ้งหยดเดียวหรือไม่.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th