ข้อเขียนเรื่อง “เหตุที่กุสุมาไม่ได้แต่งงาน” ผมอ่านจาก “สินในหมึก”...นิยายเรื่องผู้ชนะสิบทิศ ถึงตอน จะมีพิธีสยุมพร ระหว่าง บุเรงนอง เจ้าบ่าว และสองเจ้าสาว ตะละแม่จันทรา และตะละแม่กุสุมา
วันนั้นยาขอบอยู่ในโรงพิมพ์ จู่ๆก็มีสุภาพสตรีสูงศักดิ์แปลกหน้า เข้ามาขอร้อง...ตะละแม่จันทรา พระพี่นางพระเจ้าอยู่หัวมังตรา จะเข้าพิธีเดียวกับกุสุมา สาวที่ถูกสอพินยาฉุดเอาไปเป็นเมียที่เมืองแปร...ได้อย่างไร?
คำขอ “ฉันคงตายตาไม่หลับ” ประกอบฐานะ พระราชธิดาพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ยาขอบจำยอมรับ แต่ยังคิดไม่ออก จะหักเหเรื่องที่ตั้งธงไว้แล้ว ไปทางไหน
แล้ว “แม่นมเลาชี” แม่นม “มังตรา” แม่แท้ๆบุเรงนองก็ถูกเชิญออกมา “พิธีสยุมพร” “หนึ่งชายสองหญิง” จึงเลิกล้มไป ในแง่เชิงชั้นของนิยาย ผู้ชนะสิบทิศมีลีลาซับซ้อนเพิ่มรสชาติยิ่งขึ้น
ยาขอบ เขียนเรื่อง เหตุที่กุสุมาไม่ได้แต่งงาน ลงหนังสือพิมพ์ ในวันพระราชทานเพลิงพระศพ พระองค์เจ้าหญิงพระองค์นั้น ในฐานะผู้มีพระคุณ
นี่เป็นปมปัญหา ที่ถูกผูกขึ้นในนิยาย...ยาขอบผูกเองก็แก้เอง...ผมเพิ่งอ่านเจอ “ปมปัญหาสำคัญ” ของบ้านเมือง ในประวัติศาสตร์จีน สมัยจักรพรรดิถางไท่จง
องค์จักรพรรดิยอมรับนับถือเว่ยเจิง อัครมหาเสนาบดีฝ่ายค้าน ...มากๆจากหลายๆเรื่อง นี่คือเรื่องหนึ่ง
งานอภิเษกสมรสเจ้าหญิงฉางเล่อ พระราชธิดา ถางไท่จง ดำริจะพระราชทานสินสมรส ให้มากกว่าเจ้าหญิงของพระราชบิดาเท่าตัว เว่ยเจิงถวายคำทัดทาน
“สมัยจักรพรรดิ ฮั่นหมิงตี้ จะพระราชทานศักดิ์ให้โอรสทรงตรัสว่าโอรสของข้า จะดีเสมอโอรสพระบิดาไม่ได้ หากจะใช้เป็นตัวอย่างข้าพระองค์ไม่เห็นด้วยที่จะถวายสินสอดให้พระราชธิดามากอย่างที่ทรงดำริ”
...
จักรพรรดิเก็บความไม่พอพระทัยไว้ จนพระมเหสีจ่างซุน กราบทูลว่า เป็นคำทัดทานที่โน้มน้าวด้วยขนบจารีตอันดีงาม เว่ยเจิงเป็นขุนนางที่จงรักภักดีพร้อมปกป้องราชวงศ์ที่แท้...
ถางไท่จง เปลี่ยนพระอารมณ์ถ่ายทอดคำสั่ง ลดสินสอดพระราชธิดา และพระราชทานผ้าแพร 40 พับ เงิน 40 หมื่น ให้เว่ยเจิง พร้อมฝากถ่ายทอดพระราชดำรัสว่า
“ท่านเป็นคนซื่อตรงยุติธรรมยิ่ง วันนี้ได้ประจักษ์ หวังว่าท่านจะถนอมความดีงามนี้ไว้”
ต่อมาสถานการณ์เปลี่ยน วันนั้นถางไท่จงทรงทนฟังคำค้านเรื่องพระองค์จะทรงสร้างพระราชวังแห่งใหม่ ในขณะบ้านเมืองเกิดฝนแล้ง ชาวบ้านอดอยาก...ไม่ไหว แต่ก็ทรงอดทนจนเสด็จกลับถึงตำหนักใน
ระเบิดพระอารมณ์ใส่ พระมเหสีจ่างซุน “ข้าต้องฆ่าไอ้เฒ่ากระต๊อบนาให้ได้...คอยดู”
“ไอ้เฒ่ากระต๊อบนา” ฉายาเว่ยเจิง ทรงเรียกหลังจากทรงเห็นบ้านอัครมหาเสนาบดีฝ่ายค้านทั้งเล็กทั้งซอมซ่อ
พระมเหสีสดับแล้ว ก็ทรงถอยจากไป กลับมาในชุดข้าราชสำนัก ตรัสอวยพรพระสวามี
“ข้าพระองค์ ได้ฟังมาว่า เจ้าปรีชาญาณ ข้าย่อมซื่อตรง” “มาบัดนี้ ราชสำนักมีขุนนางซื่อตรงอย่างเว่ยเจิง เป็นเพราะฝ่าบาททรงปรีชาญาณนั่นเอง ข้าพระองค์ขอแสดงความยินดี”
จักรพรรดิคลายความชัง เป็นความชื่นชม ปฏิบัติต่อเว่ยเจิงด้วยมารยาทอันดี ให้การยกย่องดังเดิม จนกระทั่งเว่ยเจิงถึงแก่กรรม
ผมอ่านเรื่องพระมเหสีจ่างซุน ทรงเตือนพระสวามีด้วยปัญญา นึกถึงปมปัญหาใหญ่ในบ้านเมือง
ขณะนี้ความขัดแย้งระหว่างอำนาจเก่ากับอำนาจใหม่ เหมือนรถไฟสองขบวน เร่งความเร็วเข้าใส่กัน
ยึดความสงบสุข ความเจริญรุ่งเรือง และกฎกติกาบ้านเมืองเป็นหลัก ผมอยากเห็นสุภาพสตรีมีฐานะ ใกล้ตัว ใช้ปัญญาแนะลุงซึ่งยังหลงอำนาจ...ควรถอยออกมา จะเกิดประโยชน์ดีกว่าสู้ เราอาจผ่านช่วงเวลาระทึกนี้ไปได้
ผมมองโลกสวย ตัวอย่างทั้งจากเรื่องนิยาย ทั้งเรื่องในประวัติศาสตร์ เกิดขึ้นอีกได้เสมอ.
กิเลน ประลองเชิง