ปัญหาที่ว่าประชาธิปไตยคืออะไรกันแน่ คงจะเถียงกันไม่รู้จบ เพราะคนไทยมีความเห็นต่างทางการเมือง แบ่งเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมและเสรีนิยม อ้างว่ารัฐบาลที่สืบทอดมาจาก คสช. เป็นประ ชาธิปไตย เพราะเข้ามาตามรัฐธรรมนูญ และผ่านการเลือกตั้ง แต่อีกฝ่ายบอกเป็นการสืบทอดอำนาจรัฐประหาร

ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่มีรัฐธรรมนูญที่เขียนให้พิสดารอย่างไรก็ได้ และไม่ใช่แค่มีการเลือกตั้ง มีองค์ประกอบที่สำคัญอย่างน้อย 4 ประการ นั่นก็คือรัฐบาลและรัฐสภา จะต้องเข้าสู่อำนาจด้วยความยินยอมของประชาชนผ่านการเลือกตั้ง สมาชิกรัฐสภาที่มาจากเลือกตั้งเท่านั้นที่มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี

องค์ประกอบที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ต้องได้รับการค้ำประกัน เช่น เสรีภาพในการพูด การแสดงความคิดเห็น การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ และการปกครองประเทศต้องยึด “นิติธรรม” เป็นหลัก ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมาย และกฎหมายต้องตราขึ้นโดยผู้แทนปวงชน

ผู้แทนปวงชนที่ตรากฎหมาย ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน เพราะผู้มีอำนาจมักจะออกกฎหมายเข้าข้างตนเอง เช่นเดียวกับผู้ที่มาจากการแต่งตั้งของผู้มีอำนาจ ก็มักตรากฎหมายเพื่อผู้มีอำนาจ องค์ประกอบของประชาธิป ไตย ที่สำคัญยิ่งอีกอย่าง คือต้องเป็นการปกครองที่มีระบบตรวจสอบ และถ่วงดุลอำนาจ

นั่นก็คือการตรวจสอบ และการถ่วงดุลซึ่งกันและกัน ระหว่างอำนาจนิติ บัญญัติ บริหาร และตุลาการ ต้องไม่ให้อำนาจใดครอบงำอำนาจอื่นๆ เช่น อำนาจนายก รัฐมนตรีครอบงำสภา กลายเป็นเผด็จการ รัฐสภาต้องมีอำนาจตรวจสอบอำนาจบริหาร เช่น เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายก รัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี

อาจเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีศึกษาธิการ ที่ปล่อยปละละเลยให้มีคนจนทั่วบ้านทั่วเมือง ลูกหลานคนจนต้องหยุดเรียนกลางคันปีละนับแสนๆ ปีนี้คาดว่าจะมีเด็กหยุดเรียนกลางคันเพิ่มขึ้นถึง 80% เพราะรัฐบาลไม่ดูแล ทั้งยังปล่อยให้การทุจริตคอร์รัปชัน และอาชญากรเต็มบ้านเต็มเมือง ทั้งไทยและต่างประเทศ

...

การอภิปรายไม่ไว้วางใจ อาจไม่สามารถทำให้นายกฯหรือรัฐมนตรี พ้นจากตำแหน่ง แต่เป็นการเปิดโปงความล้มเหลวของรัฐบาลในด้านต่างๆ ฟ้องให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน ด้วยการกาบัตรเลือกตั้ง ดังที่เห็นผลชัดแจ้ง จากการเลือกตั้งที่ผ่านมา ฝ่ายเสรีนิยมซึ่งเป็นฝ่ายค้านชนะถล่ม ส่วน 2 พรรคแกนนำรัฐบาลแพ้ยับเยิน.