โพลสำรวจความเห็นประชาชนในโค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้ง ประเด็นที่เป็นข่าวฮือฮามากที่สุดคือสนับสนุนใครเป็นนายกรัฐมนตรี มีเสียงตะโกนบนเวทีปราศรัยหลายแห่งให้เลือกคนนั้นคนนี้เป็นนายกรัฐมนตรี คล้ายกับว่าประชาธิปไตยไทยก้าวหน้า คนไทยมีสิทธิเลือกนายกฯ เหมือนกับประเทศที่เลือกประธานาธิบดี

แต่ความเป็นจริงก็คือ คนไทยไม่มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี แม้แต่คนที่พรรคเสนอชื่อให้เลือกเป็นนายกฯ ก็เรียกกันว่า “แคนดิเดต” นายกรัฐมนตรี แปลตามตัวอักษรก็คือ “ผู้สมัคร” แต่ไม่เห็นมีคำเรียกอย่างเป็นทางการในภาษาไทย เลยเรียกเป็นภาษาอังกฤษ รัฐธรรมนูญระบุว่าเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีที่พรรคแจ้งไว้

ในยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เมื่อ 50 ปีมาแล้ว นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ก้าวหน้า บางกลุ่ม เสนอให้นายกฯมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน แต่ไม่สำเร็จ นายกฯไทยจึงมาจากการเลือกของ ส.ส. ในช่วงที่บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย แต่มาจากวิธีอื่นในช่วงเผด็จการ

ในช่วงที่ประเทศมีรัฐธรรมนูญ ที่เขียนโดยคณะรัฐประหาร นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกของสมาชิกสภานิติบัญญัติ ที่มาจากการแต่งตั้ง ซึ่งก็คือคณะรัฐประหารเลือกนายกฯนั่นเอง แต่ถ้ารัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบเหมือนในปัจจุบัน ประชาชนอาจมีสิทธิเลือกนายกฯโดยอ้อม คือเลือก ส.ส.ให้ไปเลือกนายกฯ

แต่การเลือกนายกฯตามรัฐธรรมนูญ 2560 ซับซ้อนเล็กน้อย บทถาวร ม.159ให้ ส.ส.ทั้งสภา ให้ความเห็นชอบบุคคลที่พรรคเสนอให้เป็นนายกฯแต่มีบทเฉพาะกาล ม.272 สอดแทรกเข้ามาให้ 250 ส.ว. ที่มาจาก การแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร คสช.ร่วมเลือก นายกฯด้วย นายกฯปัจจุบันก็เข้ามาแบบนี้

ท่ามกลางกระแสของสำนักโพลต่างๆ ที่พบว่าฝ่ายเสรีนิยมชนะแน่ แต่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมจะกลับมาเป็นรัฐบาลแบบปี 2562 ได้หรือไม่ เนติบริกรของรัฐบาลตอบทันทีว่า “ได้” แต่ต้องตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยก่อน จึงทำให้โพลบางสำนักเพิ่มคำถามใหม่เข้ามาอีก ถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ ที่จะให้ ส.ว.เลือกนายกฯจากพรรคที่ได้ ส.ส.มากที่สุด

...

คำตอบที่ได้รับแบบท่วมท้นระดับแกรนด์แลนด์สไลด์ ผู้ตอบ 82.54% ตอบว่าเห็นด้วย มีเพียง 17.46% ที่ตอบว่าเลือกจากพรรคใดก็ได้ นี่คือคำวิงวอนของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ต่อ 250 ส.ว. ซึ่งอาจจะได้ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นครั้งสุดท้าย ขอให้ออกเสียงตามความเห็นประชาชนส่วนใหญ่ เพื่อเห็นแก่ประชาธิปไตยที่ยังอ่อนแอ.