อีกไม่กี่วัน คนไทยก็จะต้องเลือกตั้งกันอีก แต่ยังเถียงกันไม่จบว่า “ประชาธิปไตยคืออะไร” เพราะมีแนวคิดทางการเมืองต่างกัน มีฝ่ายอำนาจนิยมและฝ่ายเสรีนิยม ตีความหมายประชาธิปไตยต่างกัน แม้แต่ประเทศคอมมิวนิสต์ที่ปกครองด้วยระบบพรรคเดียว ก็ยังเรียกตัวเองเป็น “ประชาธิปไตยประชาชน”

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล ตอนหนึ่งความว่า “ผมประชาธิปไตยกับท่านเต็มที่แล้ว มันก็เหลือแต่กฎหมายเท่านั้นเอง ถ้าทุกคนทำอะไรก็ได้ มันก็อยู่กันไม่ได้ เราให้ประชาธิปไตยเต็มใบอยู่แล้ว มากกว่าเต็มใบอีก กลายเป็นใบครึ่งไปแล้วมั้ง”

คำกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเป็นประธานยุทธศาสตร์ของพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่กำลังหาเสียงเลือกตั้งอย่างเข้มข้น เป็นการตีความหมายประชาธิปไตยแบบอนุรักษนิยม มองว่า เมื่อมีรัฐธรรมนูญ มีพรรคการเมือง มีการเลือกตั้ง ถือว่า เป็นประชาธิปไตยแล้ว แต่ประชาธิปไตยโลกยอมรับ เป็นมากกว่าเลือกตั้ง

ประชาธิปไตยที่โลกประชาธิปไตยยอมรับ ต้องเป็นการปกครองที่รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง การปกครองต้องยึดหลัก “นิติธรรม” ยึดถือกฎหมายเป็นใหญ่ กฎหมายจะต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา ที่มาจากเลือกตั้งของประชาชน ไม่ใช่กฎหมายที่มาจากคำสั่งคณะรัฐประหาร หรือจากสภาที่คณะ รปห.แต่งตั้ง

องค์ประกอบของประชาธิปไตยที่สำคัญยิ่งอีกอย่าง ประชาชนต้องมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นๆ รัฐบาลจะต้องไม่ “ปิดปาก” ประชาชนที่เห็นต่าง ตัวอย่างเช่น ในรายการดีเบตการเลือกตั้งของ “ไทยรัฐทีวี” ที่มีผู้นำพรรคเข้าร่วมถึง 10 พรรค

ช่วงหนึ่งมีการแสดงวิสัยทัศน์ เกี่ยวกับ ป.อาญา ม.112 มีเพียง 3 คน ที่เห็นว่าควรแก้ไข ม.112 ในหลักการ เพื่อนำเข้าหารือในสภา ได้แก่ นพ. พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย

...

สะท้อนถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในสังคมไทย องค์ประกอบอีกอย่างของประชาธิปไตย คือต้องมีระบบการตรวจสอบและถ่วงดุล ระหว่างอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ฝ่ายนิติ บัญญัติมาจากการเลือกตั้ง หัวหน้าฝ่ายบริหารคือนายกรัฐมนตรี มาจากความเห็นชอบของ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่ ส.ว.แต่งตั้ง.