เหตุการณ์นองเลือดในซูดาน จากการช่วงชิงอำนาจระหว่างผู้นำทหาร จนนำไปสู่การต่อสู้อย่างดุเดือดของทั้งสองฝ่าย ส่งผลให้พลเรือนเสียชีวิตแล้วไม่น้อยกว่า 56 คน ข่าวที่ออกมาในตอนแรก รายงานว่ามีการรัฐประหารเกิดขึ้นในซูดาน นึกภาพว่าเป็นการยึดอำนาจจากรัฐบาลทั่วไป แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ประเทศซูดาน แบ่งกองกำลังรักษาประเทศเป็นสองประเภทคือ กองทัพของรัฐบาล และ กองกำลังรบกึ่งทหาร ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้สังกัดกองทัพซูดาน ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อปี 2021 กองทัพได้ก่อรัฐประหาร และตั้งรัฐบาลทหารภายใต้การปกครองของนายพลในกองทัพ โดย ผู้บัญชาการกองทัพซูดาน ได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีหลังจากการยึดอำนาจ ส่วนนายพลอีกคน เป็นผู้บัญชาการกองกำลังรบกึ่งทหาร หรือ RSF เป็นรองประธานาธิบดี ตอนแรกก็ทำงานร่วมกันเป็นอย่างดี ต่อมาเกิดความขัดแย้งกันทางความคิด โดยเฉพาะการคืนอำนาจประชาธิปไตยให้กับพลเรือน แต่เหตุผลที่แท้จริงว่ากันว่าเป็น ความขัดแย้งในการบังคับบัญชากองกำลังรบกึ่งทหาร ที่จะต้องนำเข้ามาอยู่ภายใต้สังกัดกองทัพซูดานที่มีอยู่กว่า 1 แสนนาย เกิดการชิงอำนาจกันภายใน
เมื่อตกลงแบ่งอำนาจกันไม่ได้ ก็ใช้ปลายกระบอกปืนตัดสินปัญหา เสียงปืนแตกเมื่อวันที่ 15 เม.ย.ที่ผ่านมา ประเทศซูดานเกิดสุญญากาศการบริหารปกครองประเทศหนักยิ่งกว่าเดิม การเรียกร้องประชาธิปไตยในซูดาน ก็ไม่ต่างจากประเทศที่ปกครองโดยรัฐบาลทหาร มีการใช้กำลังและความรุนแรงเข้าปราบปราม แม้รัฐบาลหลังจากการยึดอำนาจจะเป็นรัฐบาลลูกผสมระหว่างทหารกับพลเรือนก็ตาม แต่อำนาจไม่เคยมีพี่มีน้องไม่เข้าใครออกใคร
เมื่อเปรียบเทียบกับประชาธิปไตยในภูมิภาคนี้ มีลักษณะและทิศทางที่ไม่ต่างกันนัก การเลือกตั้งใน กัมพูชา ที่ สมเด็จฮุน เซน ผู้นำกัมพูชา ทิ้งประโยคเด็ดเอาไว้เป็นปริศนา ไม่เลือกเราเขามาแน่ สถาบันชาติ ประเทศ ประชาชน จะเกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย การเลือกตั้งทั่วไปในกัมพูชาครั้งนี้นับว่าเป็นครั้งที่ 7 แล้ว พรรคสมเด็จฮุน เซน ชนะการเลือกตั้งเป็นรัฐบาลมาโดยตลอด รัฐบาลจะมีอายุสมัยละ 5 ปี คิดดูก็แล้วกันว่า สมเด็จฮุน เซน ครองอำนาจมาแล้วกี่ปี และจะครองอำนาจต่อไป จับตาการเลือกตั้งในกัมพูชาวันที่ 23 ก.ค.นี้ จะมีการเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่
...
การเลือกตั้งในเมียนมา มีแต่คำปราศรัยของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหาร จะจัดให้มีการเลือกตั้งในเมียนมาเร็วๆนี้ จนบับนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนใดๆ การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำกันแบบสุดขั้ว รวมทั้งการใช้อำนาจทางกฎหมายที่พร้อมจะเนรเทศผู้นำฝ่ายประชาธิปไตย ยังมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
มติชน-เดลินิวส์โพล หรือนิด้าโพล สำรวจความนิยม นักการเมืองและพรรคการเมืองในศึกเลือกตั้ง 2566 หลังการกำหนดวันเลือกตั้งชัดเจนของ กกต.แคนดิเดตนายกฯที่ชิงกันมีอยู่ 2 ชื่อคือ แพทองธาร ชินวัตร จากเพื่อไทย และ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โดยเฉพาะ แพทองธาร คะแนนเพิ่มขึ้นทุกครั้งที่มีการสำรวจ พิธา ก็น่ากลัว โพลบางสำนักแพ้แพทองธารชนิดหายใจรดต้นคอ ส่วนพรรคการเมือง เพื่อไทยที่ 1 ก้าวไกลที่ 2 ไม่แผ่วเช่นกัน
ที่พอจะสังเคราะห์ได้ก็คือชาวบ้านจะเลือกฝ่ายประชาธิปไตย เป็นคนรุ่นใหม่ คิดใหม่ทำใหม่ เป็นขั้วการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามรัฐบาลชุดปัจจุบัน ถ้าการเลือกตั้งครั้งนี้เป้าหมายคือการเปลี่ยนแปลง ได้แต่ขนหัวลุก.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th