ผมยังจำเบอร์พรรคเสรีรวมไทยไม่ได้ เดินริมถนนพหลโยธิน หน้าสวนจตุจักร เจอป้ายโฆษณา “เอก เบอร์ 4” ปราบโกง 4 คือ เบอร์ปาร์ตี้ลิสต์ ปราบโกง คือยี่ห้อ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรค
แต่ก็ยังสับสน ป้ายโฆษณาใบนี้ บอกแค่ “หลักสี่” นี่ไม่ใช่เขตที่เราอยู่ เคราะห์ดี ป้ายโฆษณาอีกพรรค ย้ำ “จตุจักร หลักสี่” ก็พอรู้บ้าง แขวงจอมพล เขตจตุจักรที่ผมอยู่ ถูกรวบเข้าไปรวมกับเขา
หัวข้อ การโฆษณา ในหนังสือ โอโช เล่ม ตื่น-รู้-แจ้ง (สำนักพิมพ์แสงดาว พ.ศ.2566) โอโช อธิบายไว้ดังนี้
นักโฆษณาเชื่อในศาสตร์แห่งการย้ำซ้ำๆ เขาเพียงแต่บอกซ้ำไปเรื่อยๆ ว่าบุหรี่ยี่ห้อนี้ดีที่สุด
เมื่ออ่านครั้งแรกเราอาจไม่เชื่อ
แต่ครั้งต่อๆไป ครั้งแล้วครั้งเล่า เราจะยังคงเป็นผู้ที่ไม่เชื่อ อยู่ได้นานแค่ไหน ความเชื่อจะค่อยๆเกิดขึ้นทีละน้อย และความเชื่อจะมีมาก จนเราอาจไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำ มันจะเป็นสิ่งที่ซ่อนเร้นที่อยู่ใต้จิตสำนึกเท่านั้น
ฉับพลันวันหนึ่ง เมื่อเราไปร้านค้า แล้วคนขายถามถึงบุหรี่ยี่ห้อที่เราต้องการ เราจะพูดถึงบางยี่ห้อที่อยู่ในใจออกมา นั่นคือการย้ำซ้ำๆ ทำงานได้ผล มันสะกดจิตเรา
นั่นคือลักษณะที่ศาสนาต่างๆ รวมถึงนักการเมืองทั้งหมด มีบทบาทอยู่ในโลก
การโฆษณาบอกซ้ำซากต่อสาธารณชนโดยไม่ต้องใส่ใจว่า จะมีใครเชื่อหรือไม่ เพราะนั่น ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ
ฮิตเลอร์กล่าวว่า มีความแตกต่างเพียงอย่างเดียว ระหว่างความจริงกับเรื่องโกหก นั่นคือ ความจริงคือเรื่องโกหกที่พูดซ้ำซาก ให้ฟังบ่อยมาก
แล้วคนเราสามารถเชื่อเรื่องโกหกใดๆก็ได้ การถูกหลอกง่ายของมนุษย์นั้นไร้ขอบเขต
คนเราอาจเชื่อ เรื่องนรก สวรรค์ เทวดา นางฟ้า ภูตผีปีศาจ และเชื่ออะไรได้ทุกอย่าง แค่พูดซ้ำๆไปเรื่อยๆ
...
แล้วไม่จำเป็นต้องอ้างเหตุผล การโฆษณาเพียงแค่โน้มน้าวโดยไม่เคยอ้างเหตุผล
ผู้ที่อ้างเหตุผล อาจไม่สามารถทำให้เราเชื่อได้ แต่คนที่ชักจูงซึ่งแค่พูดแนะนำอย่างนุ่มนวลอ่อนโยน ไม่ใช่การอ้างเหตุผลตรงๆ เพราะเมื่อใครก็ตามที่อ้างเหตุผลกับเรา เราอาจเริ่มต่อต้าน
แต่ถ้าใครก็ตาม แค่พูดเป็นนัยถึงสิ่งบางอย่างไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้บอกตรงๆ แค่การสมมติ เราก็มีแนวโน้มที่จะเชื่อมากกว่า
เป็นไง! หลักคิดเรื่องโฆษณาของโอโช...ผมอ่านแล้วเลื่อมใส ลองใช้เปรียบเทียบทบทวนการเมืองไทย
ระหว่างโฆษณา แจกเงินดิจิทัลคนละหมื่นให้คน 16 ปีขึ้นไป ของคุณเศรษฐา ทวีสิน ว่าที่นายกฯพรรคเพื่อไทย กับการแจกเป็นรายเดือน แต่รวมแล้วปีหนึ่งกว่าหมื่น ของพลเอกประยุทธ์ รักษาการนายกฯพรรครวมไทยสร้างชาติ
ที่จริงก็แจกและแจกเหมือนกัน แต่ต่างกันบ้างตรงวิธี...และระยะเวลา และเป้าหมาย
แต่ปัญหาสำคัญอยู่ที่ชาวบ้าน จะรับรู้ว่า พรรคใดแจกให้มากกว่า และถูกใจพรรคไหนมากกว่า ประเด็นนี้คิดตามหลักโอโช...ไม่ได้อยู่ที่จริงเท็จ หรือเหตุผล แต่อยู่ที่ใครพูดกรอกหูซ้ำซากมากกว่า
เพราะผมก็เชื่อหลักคิดนี้ล่ะครับ...เมื่อหันไปทางไหน เจอแต่การหาเสียงด้วยการแจก การให้ ตอนหาเสียงก็แจกเป็นค่าใช้จ่าย ค่าป้าย ค่ารถ ค่าเวที ค่าแรงคนมาฟัง ฯลฯ เงินสะพัดรอบหนึ่ง
แม้ชนะเลือกตั้งแล้วก็ยังตามไปให้ต่อ ถือว่าเงินสะพัดอีกรอบหนึ่ง
เรื่องเงินๆๆ และเงิน ที่แจกกระเจิงกระจาย...ข้อห่วงใยเรื่อง “ร่วงหล่น” คงจะมาก ผมจึงอยากให้มีนักการเมืองแบบพรรคเสรีรวมไทย ของคุณเสรี เข้าไปนั่งช่วยปราบโกง
ผมแน่ใจ ถึงเวลาเลือกตั้งคงจะจำเบอร์พรรค จำเบอร์ผู้สมัครปาร์ตี้ลิสต์ พรรคนี้ได้ กติกาเขาห้ามจดใส่ฝ่ามือ หรือจดลงกระดาษตอนเข้าคูหานี่นา!
กิเลน ประลองเชิง