นโยบายแจกเงินดิจิทัลให้กว่า 50 ล้านคน คนละหมื่นบาท ที่พรรคเพื่อไทยเชื่อว่าจะเป็นหมัดเด็ดน็อกคู่ต่อสู้ในการเลือกตั้งเดือนหน้า ยังมีประเด็นปัญหา อีกมาก ทั้งในด้านที่ว่าจะผิดกฎหมายหรือไม่ เป็นยาวิเศษฟื้นเศรษฐกิจของชาติ ในทันทีทันใดจริงหรือ และอาจลามเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สั่งให้พรรคเพื่อไทยชี้แจงใน 3 ประเด็น คือ วงเงินที่ต้องใช้ ที่มาของเงินดำเนินการ และประเมินผลการแจกเงินกว่า 5 แสนล้านบาท คุ้มค่าหรือไม่ และได้ประโยชน์อย่างไร รวมทั้งประเมินผลกระทบและความเสี่ยง ไม่ใช่มุ่งหน้าแจกเงินหาเสียงอย่างเดียว

ขณะเดียวกัน การแจกเงินครั้งมโหฬาร อาจส่งผลกระทบต่อการจัดตั้งรัฐบาล นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ออกมาคัดค้านการแจกครั้งมโหฬาร แจกแบบเหวี่ยงแห แม้กระทั่งมหาเศรษฐี และประกาศว่าจะไม่จับมือกับพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล หลังการเลือกตั้ง

ส่วนนักร้องเจ้าประจำ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นคำร้องต่อ กกต. ขอให้ตรวจสอบและวินิจฉัย การที่นายเศรษฐา ทวีสิน หนึ่งในแคนดิเดตนายก รัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย เข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมายหลายฉบับ อีกทั้งนายเศรษฐาเป็นผู้บริหารของบริษัทธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

คล้ายกับนายเกียรติ สิทธีอมร อดีตผู้แทนการค้าไทย และผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่วิจารณ์นโยบายแจกเงินคนละหมื่นบาท เป็นการเสนอนโยบายที่ไม่ชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องที่มาของเงิน ทำไมต้องเป็นเงินดิจิทัล ทำไมบังเอิญขนาดนี้ ทำไมต้องบังคับให้คน 80% ต้องใช้เงินดิจิทัล

จากการแจกเงินหาเสียง ทำท่าจะกลายเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน นายเกียรติเปิดเผยว่า บริษัทของนายเศรษฐาเข้าไปซื้อหุ้นบริษัทธุรกิจทรัพย์สินดิจิทัล บริษัทนี้ขายเงินดิจิทัลด้วย วันที่ขายทรัพย์สินเพื่อแจกเงินดิจิทัลตามนโยบายนี้ บริษัทจะรวยขึ้นในทันที อาจเพราะความบังเอิญว่า มีการบังคับให้คนกว่า 50 ล้านคนใช้เงินดิจิทัล

...

จากนโยบายหาเสียงประชานิยม แข่งกันแจกเงินเพื่อจูงใจประชาชนให้ลงคะแนนให้พรรคใดพรรคหนึ่ง ที่กำลังรุ่งเรืองเฟื่องฟู อาจบานปลายกลายเป็นการกล่าวหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน หรือการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ให้เลือกผลประโยชน์ส่วนตน กับผลประโยชน์ของชาติ จะเลือกผลประโยชน์ฝ่ายใด?