ในวันรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.วันแรก มีเรื่องราวทางการเมืองที่สำคัญเกิดขึ้นหลายเรื่อง เช่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรครวมไทยสร้างชาติ สร้างประเพณีการเมืองใหม่ ด้วยการตั้งนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค รทสช. เป็นทายาทสืบทอดนายกรัฐมนตรี

เป็นการสืบทอดตำแหน่ง หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ครบ 2 ปี ตามสิทธิที่เหลืออยู่ เรื่องที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ การถกเถียงเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ตั้งเป้าจะให้ได้ ส.ส. 120 คน เพื่อเป็นแกนนำรัฐบาล แต่ชี้ว่าการจับขั้วขณะนี้ไร้ประโยชน์

ผู้นำพรรค ภท.บอกให้รอดูผลการเลือกตั้งก่อน แต่น่าสงสัยทำไมจึงแอบเข้าไปพบ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐที่บ้านป่ารอยต่อถึง 2 ครั้ง ถ้าถือว่าการจับขั้วไร้ประโยชน์ ส่วนนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มั่นใจว่าจะได้เป็นแกนจัดตั้งรัฐบาล เพราะกำลังอยู่ช่วงขาขึ้น

แต่ผลการสำรวจความเห็นประชาชน ของนิด้าโพล “ทุกครั้ง” พบว่าพรรค ปชป.มีคะแนนนิยมอยู่ในอันดับท้ายๆ ทั้งผู้สมัครนายกรัฐมนตรี และคะแนนพรรค แต่ยังมั่นใจว่าคุณสมบัติของนายกฯไม่เป็นสองรองใคร หวังว่าจะไม่เหมือนกับบางพรรค ที่อาจซุ่มทำโพลเอง และประกาศว่ามาเป็นอันดับ 1 ถือเป็นอภินิหารการเมือง

อีกเรื่องหนึ่งที่ถือว่าสำคัญ นั่นก็คือผู้สมัครนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ทั้ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และนายเศรษฐา ไม่ยอมสมัครเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรค โดยอ้างว่าต้องการเป็นฝ่ายบริหาร ไม่ใช่ฝ่ายนิติบัญญัติ อันที่จริงการปกครองระบบ รัฐสภา ไม่ได้แยกอำนาจจากกันโดยเด็ดขาด ทั้งสองฝ่ายทำงานร่วมกัน

ในประเทศระบบรัฐสภา นอกจากนายกฯจะมาจาก ส.ส.แล้ว รัฐมนตรีส่วนใหญ่ก็มาจาก ส.ส. เมื่อได้รับเลือกเป็นนายกฯแล้ว แต่ไม่ประสงค์ที่จะควบ ส.ส. อาจลาออกจาก ส.ส.เพื่อเปิดทางให้ผู้ที่สอบตกขึ้นมาแทนที่ได้ น่าเสียดายโอกาสที่จะแสดงความเป็นผู้นำประชาธิปไตย ให้เป็นแบบอย่างรุ่นหลังๆสืบไป

...

พรรคเพื่อไทยประกาศตนเป็น “พรรคฝ่ายประชาธิปไตย” ที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ เคยเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญให้นายกฯมาจาก ส.ส. แต่ถูกฝ่ายอำนาจนิยมคว่ำ หลักการนี้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2517 เป็นฉบับแรก เป็นผลการลุกขึ้นต่อสู้ของนักศึกษาประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แม้จะถูกฉีกทิ้ง แต่มีการสืบทอดต่อๆกันมา.