ก.สาธารณสุข เผยความคืบหน้าการดูแลพนักงานกระทรวงและลูกจ้างชั่วคราว กรณีปรับเป็นพนักงาน ค่าตอบแทนเสี่ยงภัย ค่าโอที รวมถึงภาระหนี้สิน

วันที่ 8 มีนาคม 2566 นายสรรเสริญ นามพรม ผู้อำนวยการกองบริหารทรัพยากรบุคคล สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยความคืบหน้าการดูแลกลุ่มพนักงานกระทรวงและลูกจ้างชั่วคราวกระทรวงสาธารณสุข ว่า กระทรวงสาธารณสุขและกลุ่มลูกจ้างได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาและปรับปรุงระบบการบริหารงานของพนักงานกระทรวงสาธารณสุข เพื่อหาแนวทางดำเนินการร่วมกัน สำหรับประเด็นที่อยู่ในอำนาจกระทรวงสาธารณสุข และดำเนินการแล้ว ได้แก่

1. การยกเลิกการจ้างลูกจ้างชั่วคราว จ้างเหมาบริการ (รายเดือน/รายวัน) และปรับเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข อ.ก.พ. ได้มีมติอนุมัติกรอบอัตรากำลังใหม่แล้ว จะให้หน่วยงานทยอยลดการจ้างงานประเภทลูกจ้างชั่วคราว จ้างเหมาบริการ (รายเดือน/รายวัน) และสนับสนุนเข้าสู่ระบบการจ้างงานที่เป็นลักษณะงานที่ต้องปฏิบัติเป็นการประจำต่อไป

2. การขอรับค่าเสี่ยงภัยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะนี้กองยุทธศาสตร์และแผนงาน เสนอปรับปรุงข้อบังคับกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการจ่ายเงินค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานให้กับหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 10) ต่อกระทรวงการคลังแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณา

3. การขอรับค่าเสี่ยงภัยจากการปฏิบัติงานในสถานการณ์โควิด-19 ได้เสนอขอรับการสนับสนุนสำหรับบุคลากรทั้งสายวิชาชีพและสายสนับสนุน รวมถึงบุคลากรของหน่วยงานภายนอกสังกัดทั้งมหาวิทยาลัยและภาคเอกชน จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง จำนวนทั้งสิ้น 7,181,617,200 บาท ขณะนี้เรื่องอยู่ที่สำนักงบประมาณ และอยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา

4. การปรับค่าทำงานนอกเวลา (OT) ขณะนี้ให้ดำเนินการตามหนังสือที่ สธ 0202.3.7/ว79 ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 ที่มีการปรับปรุงการจ่ายค่าตอบแทน โดยให้ได้รับค่าตอบแทนจากเดิมอัตรา 300 บาท เป็น 330 บาท ส่วนการปรับเพิ่มจาก 330 บาท เป็น 400 บาท จะรับไว้พิจารณาต่อไป

...

5. การช่วยเหลือเรื่องภาระหนี้สินและลดรายจ่ายของพนักงานกระทรวงสาธารณสุข ได้หารือกับธนาคารออมสินในเบื้องต้นแล้ว อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลต่างๆ เพื่อออกมาตรการช่วยเหลือ

สำหรับพนักงานกระทรวงสาธารณสุขที่ไม่สามารถสมัครสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ เนื่องจากบางส่วนราชการไม่มีเงินบำรุงเพียงพอ นายสรรเสริญ ระบุว่า อยู่ระหว่างรอผู้แทนพนักงานกระทรวงสาธารณสุขสำรวจข้อมูลผู้ที่ไม่สามารถสมัครกองทุนได้ เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป.