ตัวแทนเกษตรกร 14 จังหวัดอีสาน บุกทวงถามโครงการเยียวยาชาวนาจากน้ำท่วม ด้านปลัดเกษตรฯ สั่งเร่งรัดดำเนินการทันที แง้ม มีการเตะถ่วงดึงเรื่องให้ล่าช้า

วันที่ 3 มี.ค. 2566 นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับฟังปัญหาและร่วมหารือกับ นายจิตติ เจียมเจือจันทร์ ผู้แทนเกษตรกรจาก 14 จังหวัด เช่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม เพชรบูรณ์ อุทัยธานี เรื่องการเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ปี 2563/64 ในประเด็นการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าว และการเร่งรัดจ่ายเงินชดเชยให้กับเกษตรกรบางส่วนที่ยังไม่ได้รับ โดยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามเร่งรัดดำเนินการตามที่กลุ่มเกษตรกรได้ร้องขอจนเป็นที่พอใจ และได้นำขบวนเกษตรกรกว่า 120 คน เดินทางกลับในทันที

นายจิตติ ตัวแทนเกษตรกร กล่าวว่า เดิมทีกรมการข้าวขออนุมัติดำเนินการโครงการรักษาระดับปริมาณคุณภาพข้าว ปี 2563/64 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยธรรมชาติ ภายใต้โครงการแผนเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบภัย ฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วง และอุทกภัย ปี 2562 เกษตรกรรวม 450,013 ครัวเรือน ที่จะได้รับความช่วยเหลือรวม 3,414,142.04 ไร่ โดยได้รับการจัดสรรงบประมาณทั้งสิ้น 932,152,161 บาท เพื่อจัดซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวสนับสนุนเกษตรกร ปริมาณ 34,128,306 กิโลกรัม จากแหล่งผลิต 3 แหล่ง ได้แก่ 1. กองเมล็ดพันธุ์ข้าว 2. ศูนย์ข้าวชุมชน/นาแปลงใหญ่ และ 3. สหกรณ์การเกษตร

...

ในส่วนของเมล็ดพันธุ์ข้าวที่จัดซื้อจากสหกรณ์การเกษตร กรมการข้าวยกเลิกการจัดซื้อไปเนื่องจากล่วงเลยระยะเวลาปลูก จึงทำให้คงเหลือเกษตรกรที่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าว จำนวน 194,492 ครัวเรือน พื้นที่ 1,430,000 ไร่ จากปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตร ปี 2562 ซึ่งมีความจำเป็นในการเร่งบรรเทาและเยียวยาเกษตรกร

ทั้งนี้ กรมการข้าวได้เสนอขอรับการจัดสรรงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินการตามโครงการรักษาระดับปริมาณและคุณภาพข้าว ปี 2565/66 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ยังไม่ได้รับเมล็ดพันธุ์ข้าวตามโครงการรักษาระดับปริมาณและคุณภาพข้าว ปี 2563/64 โดยสนับสนุนปัจจัยการผลิตข้าวได้แก่ ปุ๋ยชีวภาพให้แก่เกษตรกร จำนวน 194,492 ครัวเรือน ในพื้นที่ 14 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์, อุทัยธานี, อำนาจเจริญ, หนองคาย, ร้อยเอ็ด, ยโสธร, มุกดาหาร, มหาสารคาม, พิจิตร, นครราชสีมา, นครพนม, ชัยภูมิ, ขอนแก่น และกาฬสินธุ์ จากงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นวงเงินงบประมาณ 404,801,240 บาท

“การมากระทรวงเกษตรฯ วันนี้ ได้รับทราบว่า รมช.เกษตรฯ จะดำเนินการต่อเพื่อช่วยเหลือชาวนาให้ได้รับการเยียวยา เรารอมา 3 ปีแล้ว ไม่รู้ว่ามีการดึงเรื่องอย่างไร อยากจะขอวิงวอนผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง อย่าเล่นการเมืองโดยไม่สนใจชาวนาเลย เราเดือดร้อนมาพอแล้ว การช่วยเหลือเยียวยาไม่สมควรมีเรื่องการเมืองมาเกี่ยวข้อง”

แหล่งข่าวในกระทรวงเกษตรฯ แจ้งว่า มีความไม่ชอบมาพากลของคนใกล้ชิด รมช.ท่านหนึ่ง ที่เตะถ่วงจนเกิดความล่าช้า ส่งผลให้โครงการทั้ง 3 โครงการ คือ โครงการพัฒนาห้องปฏิบัติการตรวจสอบเอกลักษณ์พันธุกรรม (DNA) ข้าวหอมมะลิไทย โครงการรักษาระดับปริมาณและคุณภาพข้าว ปี 2566/67 และโครงการเยียวยาชาวนาที่ประสบภัยธรรมชาติ ปี 2565 ไม่สามารถดำเนินการในขั้นตอนต่อไปได้ แม้ว่าโครงการได้ผ่านการกลั่นกรองจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ และกระทรวงการคลังไปแล้ว กลับขอเอกสารเพิ่มเติมทั้งที่เสนอเอกสารโครงการไปแล้วตั้งแต่วันที่ 2 ก.พ. 2566 แต่ก็ดูเหมือนยังไม่ได้รับการพิจารณาใดๆ แสดงให้เห็นว่าคนใกล้ชิดนักการเมืองระดับสูงท่านนี้ ไม่สนโลกว่าจะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทันหรือไม่ทัน การกระทำนี้จะทำให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเสียผลประโยชน์ และกระทบต่อคุณภาพของข้าวหอมมะลิ อีกทั้งยังเป็นการส่งสัญญาณว่า ถึงแม้เกษตรกรที่ประสบอุทกภัยจะต้องได้รับการเยียวยาเร่งด่วนแค่ไหนก็ไม่สน.