คำปราศรัยของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เนื่องในโอกาสสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เน้นเป็นพิเศษได้แก่ คำว่าชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน กับคำว่า “ประชาธิปไตย” และ “ขอไปต่อ” นายก รัฐมนตรีย้ำว่าไม่ได้อยากมีอำนาจ แต่เคารพในกระบวนการประชาธิปไตยของประเทศ
แต่ไม่ได้สัญญาว่าจะนำประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์เหมือนอย่างที่เคยสัญญา หลังจากยึดอำนาจใหม่ๆ ด้วยบทเพลงที่ว่า “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน แล้วแผ่นดินที่งดงามจะกลับมา ขอเวลาอีกไม่นานแผ่นดินจะดีในไม่ช้า ขอคืนความสุข ให้เธอประชาชน” ถึงวันนี้คงจะลืมเสียแล้ว
แต่การที่ พล.อ.ประยุทธ์ขอต่ออีกนานๆไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เคยเกิดมาแล้ว หลังจากยึดอำนาจเมื่อปี 2557 คณะรัฐประหาร คสช.ตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ มี ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน แต่ร่างเสร็จแล้วถูกสภาที่ คสช.แต่งตั้งคว่ำ ศ.ดร.บวรศักดิ์เพิ่งรู้ทีหลังว่าเหตุที่คว่ำ “เพราะเขาอยากอยู่ยาว”
จึงต้องตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ มีบทบัญญัติที่ทำให้ คสช.สืบทอดอำนาจแบบ “อยู่ยาว” จึงได้รับความเห็นชอบของสภาอย่างท่วมท้น เป็นรัฐธรรมนูญที่แกนนำพรรคพลังประชารัฐคุยอวดว่า “ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” นับตั้งแต่ครองอำนาจมากว่า 8 ปี มีครั้งไหนหรือไม่ ที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็น “ประชาธิปไตยเต็มใบ”
แม้แต่เมื่อตัดสินใจเป็นนักการเมืองเต็มตัว ด้วยการเป็นสมาชิกพรรค รทสช. และจะเป็นผู้สมัครนายกฯของพรรค ก็ยังจะใช้วิธีการที่ขัดประชาธิปไตยเหมือนเดิม นั่นก็คือให้ 250 ส.ว.ที่มาจากแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารเลือกนายก รัฐมนตรี แต่อาจต้องแย่ง ส.ว.กัน ระหว่าง พรรค พปชร. กับ รทสช.
...
กลายเป็นการชิงตำแหน่งนายก รัฐมนตรีระหว่าง 2 พรรค ที่สืบทอดอำนาจมาจากรัฐประหารด้วยกัน เป็นการชิงตำแหน่งนายกฯระหว่าง 2 ป. คือ ป.ประยุทธ์ กับ ป.ประวิตร อาจถือว่าเป็นการผิดมรรยาทการเมืองร้ายแรง เพราะเอาเปรียบพรรคคู่แข่งอื่นๆที่ไม่มี 250 ส.ว. แต่งตั้งในมือ
ในคำปราศรัยตอนหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า “ผมไม่ได้อยากมีอำนาจ การมีอำนาจต้องใช้ให้ถูกต้องเป็นธรรม” การที่ผู้ที่เคยเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารตัดสินใจเข้าเป็นสมาชิกพรรค และเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง แต่ควรจะเข้าสู่อำนาจตามกติกา ที่ใช้กับพรรคคู่แข่งอื่นๆจึงจะเป็นประชาธิปไตย.