ผลการสำรวจความเห็นประชาชน ของนิด้าโพลในระยะหลังๆ ส่วนใหญ่สะท้อนถึงการเสื่อมศรัทธา ไม่เลื่อมใสในตัว ส.ส. และอาจลามไปถึงการเสื่อมศรัทธาในการเมืองระบบรัฐสภา การปกครองระบอบประชาธิปไตย มีกลุ่มตัวอย่างกว่า 50% อยากให้นายกรัฐมนตรียุบสภาภายในเดือนธันวาคม เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชน

คนส่วนใหญ่ 31.98% ไม่ค่อยพอใจ ผลงานของสภาผู้แทนราษฎร และไม่พอใจเลย 25.98% เพราะ ส.ส.ใช้เวลาส่วนใหญ่ทะเลาะกัน เข้าประชุมน้อย รวมกลุ่มที่ไม่พอใจพุ่งขึ้นเป็น 57.94% ส่วนกลุ่มที่ค่อนข้างพอใจมี 30.46% เพราะเห็นว่ามุ่งมั่น ตั้งใจทำงาน นำเสนอปัญหาของประชาชนอีก 9.77% พอใจมาก

กลุ่มที่พอใจผลงานของ ส.ส.ทั้งสองกลุ่มรวมเป็นเพียง 40.23% น้อยกว่ากลุ่มที่ไม่พอใจมาก เหตุผลสำคัญที่ทำให้ไม่พอใจ เพราะ ส.ส.มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้แทนประชาชนเต็มตัว แต่บางส่วน “ละทิ้งหน้าที่” ด้วยการยกขบวนลาออกจาก ส.ส. เพื่อเข้าเป็นสมาชิกพรรคใหม่ ที่อาจเห็นว่าอู้ฟู่และใจถึงพึ่งได้

แม้แต่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ซึ่งอยู่ในสภามามากกว่า 5 ทศวรรษแล้ว ก็ยังงุนงงต่อพฤติกรรมของ ส.ส.บางส่วน ที่เข้าไปในสภา แต่ไม่ยอมกดบัตรแสดงตนเพื่อให้การประชุมสภาล่ม แบบนี้คงไม่เรียกว่า “ละทิ้งหน้าที่” แต่น่าจะเป็น “ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่” เป็นความผิดทางอาญา มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี ส่วนการละทิ้งหน้าที่ เป็นความผิดทางวินัยข้าราชการ อาจถูกไล่ออก

บางยุคบางสมัยในอดีต เคยมี ส.ส.ถูกกล่าวหาเกี่ยวกับการทุจริตหรือประพฤติมิชอบเช่นเดียวกัน แม้แต่ในยุคที่ประชาธิปไตยรุ่งเรืองเฟื่องฟู มีพรรค การเมืองเกิดขึ้นมากมาย หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ส.ส.บางคนแหกมติพรรค ลงมติเข้ากับพรรคอื่น ไม่เรียกว่า “ส.ส.งูเห่า” แต่เรียกกันว่า ส.ส.ขายตัว หรือ ส.ส.โสเภณี

...

ส.ส.บางคนที่มีพฤติการณ์ดังกล่าว ถูกไล่ออกจากพรรค แม้จะไม่ถึงกับพ้นจาก ส.ส. ยังให้เวลาหาพรรคใหม่ภายใน 60 วัน บางพรรคยังไม่สาแก่ใจ เพราะถือว่าทรยศพรรค และทรยศต่อประชาชน จึงเพิ่มโทษ “จารึกชื่อบนหนังหมา”

แต่น่าแปลกใจ การเมืองไทยในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ ถึงแม้โดยปกติ คณะกรรมาธิการของสภามักจะกระเหี้ยน กระหือรือที่จะตรวจสอบนักการเมือง หรือข้าราชการที่ถูกกล่าวหา แต่กลับไม่สนใจที่จะตรวจสอบ เรื่องการย้ายพรรคกันอย่างสับสนอลหม่านมีกรณีใดเข้าข่ายความผิด ม.30 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมืองหรือไม่.