ไม่รู้ว่าข้อสอบเจ้าปัญหา หรือเป็น ทปอ.เจ้าปัญหากันแน่กับความสติเฟื่องออกข้อสอบ วิชาความถนัดทั่วไป (TGAT) เป็นวิชาใหม่ที่จัดสอบปีนี้เป็นครั้งแรก

เป็นระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาหรือทีแคส ปีการศึกษา 2566 โดยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)

“เมนูใดต่อไปนี้ ที่สร้างก๊าซเรือนกระจกและส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนน้อยที่สุด”

มีช้อยส์ให้เลือก 4 ข้อ 1.ข้าวราดไก่ผัดกระเทียมพริกไทย 2.ราดหน้าหมู 3.สเต๊กปลาแซลมอน และ 4.สุกี้ทะเลรวม

จนกลายเป็นไวรัลวิพากษ์วิจารณ์ ผู้ออกข้อสอบกันร้อนแรงบนโลกโซเชียล

แต่ ทปอ.ก็ยังออกแถลงชี้แจงอย่างหน้าชื่นว่า คณะกรรมการดำเนินงาน TCAS รู้สึกยินดีที่ข้อคำถามดังกล่าว กระตุ้นให้เกิดการถกเถียง ทำให้ตระหนักรู้ถึงผลกระทบของการเลือกทานอาหารที่มีต่อสิ่งแวดล้อม และการสร้างก๊าซเรือนกระจก ตามหลักเป้าหมายของยูเอ็น

เป็นการพัฒนาบนฐานความรู้ของการเป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของสังคม (Civic Engagement) มุ่งหวังพัฒนาระบบการสอบรูปแบบใหม่ ในการเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี

กระตุ้นเด็กให้ตระหนักพัฒนาทักษะอนาคต และทัศนคติที่ดี ทั้งการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ การคิดวิเคราะห์ บริหารจัดการอารมณ์ การแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน ฯลฯ

ขณะที่ นายชาลี เจริญลาภนพรัตน์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายรับเข้าศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ ผู้จัดการ TGAT ของ ทปอ. ยืนยันว่าข้อสอบมีคำตอบที่ถูกเพียงข้อเดียว

และกับปัญหาเรื่องข้อสอบจำนวน 200 ข้อ ที่ต้องทำในเวลา 180 นาที จนเด็กทำไม่ทันนั้น นายชาลีแจงว่า เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นทุกปี เป็นเรื่องของการบริหารจัดการเวลา

...

ก็มี นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ โพสต์ลงเฟซบุ๊กส่วนตัว สรุปใจความได้ว่า ทปอ.ไม่ควรด่วนปลื้มอกปลื้มใจว่าข้อสอบดังกล่าวกระตุ้นให้เกิดกระแสสังคม ให้มีจิตสำนึกหรือตระหนักถึงเรื่องโลกร้อน แต่สะท้อนถึง social unrest ว่าข้อสอบอาจมีปัญหาสำหรับผู้สอบ

เป็นคำถามที่ตีความได้หลายแง่ ไม่จำกัดขอบเขตของการวิเคราะห์ สิ่งที่ควรทำคือ น้อมรับคำร้องขอจากสาธารณะ เฉลยคำตอบพร้อมคำอธิบายอย่างละเอียด ระบุที่มาของแหล่งข้อมูล เพื่อตรวจสอบความถูกต้องได้

ผมว่าก่อนที่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบด้านระบบการศึกษาทั้งหลาย จะคิดยกระดับความรู้ของเด็กไทย

ควรไปคิดหาวิธียกระดับความรู้ของบุคลากรด้านการศึกษาที่มีอยู่ทั้งระบบให้พร้อมก่อนจะดีไหม

ยิ่งได้ฟังเสียงสะท้อนจากกลุ่มเด็ก ทั้งที่กำลังศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านศึกษาศาสตร์ และเด็กที่กำลังจะเข้าสู่การแข่งขันเรียนต่อปริญญาตรีในอนาคต

พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การศึกษาไทยในระบบ ไม่ได้สอนให้เด็กคิดวิเคราะห์เชิงระบบ เน้นแต่สอนท่องจำ ผมไม่ได้คิดจะดูถูกภูมิความรู้บุคลากรการศึกษาไทย

แต่ด้วยระบบการทำผลงานของคณาจารย์ต่างๆ มันไปกระทบกับการจัดการเรียนการสอน เพราะมุ่งแต่เอาผลงานเพื่อเพิ่มฐานเงินเดือน ผลตอบแทน และตำแหน่งหน้าที่การงานที่สูงขึ้น

เมื่อการหาความรู้ในห้องเรียนของเด็ก ไม่ตอบโจทย์การแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยชื่อดัง หรือคณะที่เขาต้องการ

สุดท้ายผลประโยชน์ก็ตกอยู่กับสถาบันกวดวิชา และบรรดาติวเตอร์ทั้งหลาย

อยากจะถามจริงๆ คนออกข้อสอบเองมีความเข้าใจ เรื่อง Carbon Footprint ดีแค่ไหน

หรือดีแต่คิดพิสดาร ออกข้อสอบ...เอาโล่กัน.

เพลิงสุริยะ