การประชุม ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ครั้งที่ 29 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ปิดฉากลงไปแล้วเมื่อเย็นวันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายน โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีการหารือกับ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีนในช่วงบ่าย และหารือกับ นางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯในช่วงเย็น ถือเป็นกำไรเป็นกอบเป็นกำของไทยนอกเหนือจากการหารือในเวทีผู้นำเอเปกและที่สำคัญก็คือ ไม่มีเรื่อง “สงครามรัสเซีย-ยูเครน” มากวนใจ ทำให้มีการพูดคุยในเรื่องเศรษฐกิจและอนาคตล้วนๆ
ที่ประชุม ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ครั้งที่ 29 ได้เห็นชอบรับรองเอกสารผลลัพธ์ 2 ฉบับ คือ ปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ค.ศ.2022 และ เป้าหมายกรุงเทพฯ (Bangkok Goals) ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ถือเป็นความสำเร็จอย่างงดงามของประเทศไทย
พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะประธานผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกได้แถลงหลังปิดการประชุมว่า ตนและผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกได้รับรองปฏิญญา ค.ศ.2022 ที่มีแนวคิด เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว หรือ แนวคิดเศรษฐกิจ BCG เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนภายใต้หัวข้อหลัก “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” มีผลลัพธ์ดังนี้
1.เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เอเปกได้จัดทำแผนงานต่อเนื่องหลายปี เพื่อสานต่อการหารือเรื่อง เขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ในบริบทของโลกยุคหลังโควิด-19 เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับประเด็นการค้าและการลงทุนใหม่ๆ
2.เชื่อมโยงกัน เอเปกได้ฟื้นฟูการเดินทางข้ามแดนระหว่างกันอย่างปลอดภัยและไร้รอยต่อ เพื่อสร้างความพร้อมในการรับมือวิกฤติใหม่ในอนาคต
3.สู่สมดุล ผู้นำเอเปกทุกคนได้ร่วมกันรับรอง “เป้าหมายกรุงเทพฯว่าด้วยเศรษฐกิจบีซีจี” เพื่อวางรากฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกอย่างครอบคลุม ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ
...
ประเด็นที่ผมคิดว่าน่าสนใจสำหรับคนไทย 68 ล้านคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียก็คือ ท่านประธานผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ครั้งที่ 29 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย จะมีความสามารถในการ “สานต่อ” ปฏิญญาเอเปกว่าด้วยเศรษฐกิจบีซีจี เพื่อพัฒนาประเทศไทยให้คนไทยมีความกินดีอยู่ดี และหลุดพ้นจากความยากจนที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้อย่างไร เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่คนไทยและรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้พูดมานานกว่า 5 ปีแล้ว แต่ยังไปไม่ถึงไหน
ผมไปเปิดดู “ข้อเสนอ BCG in Action โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ที่ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ จัดทำขึ้นในสมัยที่เป็น รัฐมนตรีกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ซึ่งเป็นความท้าทายในการพัฒนาประเทศไทย และตั้งแต่ต้นปีนี้เป็นต้นมา พล.อ.ประยุทธ์ ได้พูดถึงคำว่า BCG บ่อยครั้ง เมื่อนำมาตั้งเป็น “เป้าหมายกรุงเทพฯ” Bangkok Goals ในการประชุมเอเปกครั้งที่ 29 แต่ยังไม่เคยเห็น พล.อ.ประยุทธ์ ลงลึกในรายละเอียดว่า BCG ประเทศไทยจะทำอะไรบ้าง
เช่นเรื่อง “เกษตรและอาหาร” ในเอกสารบีซีจีเมื่อ 5 ปีก่อน ไทยมีภาคการเกษตรมากกว่า 12 ล้านคน แต่กว่า 90% ของพื้นที่เพาะปลูกในประเทศไทยปลูกพืชเพียง 6 ชนิด คือ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพด ผลผลิตก็ย่ำอยู่กับที่ เช่น ข้าว ราคาสินค้าเกษตรก็ผันผวน (ต้องประกันราคาทุกปี) ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรม สวนทางกับ “ปฏิญญาบีซีจีผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก 2022” สิ้นเชิง พรุ่งนี้มาคุยกันต่อเรื่องเศรษฐกิจบีซีจีครับ.
“ลม เปลี่ยนทิศ”