เป็นเส้นทางเดินที่ยาวไกลของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” และคณะกับการผลักดันให้มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น
วันที่ 29-30 พ.ย.นี้ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อยกเลิกบทบัญญัติในหมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น มาตรา 249-254 จะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา
ที่ “ธนาธร”–คณะก้าวหน้า–พรรคก้าวไกล ออกรณรงค์ภายใต้โครงการ “ขอคนละชื่อปลดล็อกท้องถิ่น” เชิญชวนบุคคลผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อขจัดอุปสรรคในการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น ที่เกิดจากรัฐธรรมนูญปัจจุบัน
จนสามารถรวบรวมรายชื่อประชาชนจากทุกพื้นที่ทั่วประเทศได้ 80,772 รายชื่อ ผ่านการรับฟังความคิดเห็นประชาชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 เรียบร้อยแล้ว
บ่งชี้ได้ว่า มีประชาชนส่วนหนึ่งอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารราชการของประเทศ อยากเห็นการกระจายอำนาจที่สมบูรณ์เกิดขึ้นในประเทศไทย
“เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอิสระในการกำหนดนโยบาย การบริหาร การจัดทำบริการสาธารณะ การบริหารงานบุคคล การเงินและการคลัง จัดทำและใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อแก้ปัญหาหน้าที่และอำนาจที่ซ้ำซ้อนกับราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และเพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ”
เป็นกรอบหลักการเพื่อจะนำไปสู่การ ปลดล็อกงาน ที่ถูกจำกัดไม่ให้สามารถทำงานตอบสนองความต้องการประชาชนได้อย่างเต็มที่
ปลดล็อกเงิน เพราะไม่มีเงินงบประมาณเพียงพอในการทำภารกิจและโครงการใหม่ๆ จากส่วนแบ่งรายได้ที่ไม่เท่าเทียม ส่วนกลางได้ 65% ท้องถิ่นได้ 35%
ปลดล็อกคน ท้องถิ่นขาดทรัพยากรคน และขาดความคล่องตัวในการบริหารงานบุคคล
...
ปลดล็อกอำนาจ ที่ถูกแทรกแซงอำนาจโดยส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ผ่านการออกระเบียบ คำสั่ง จนทำให้ท้องถิ่นไม่มีอิสระ แปลงสภาพจากการกำกับดูแล เป็นการบังคับบัญชา ขี่คอท้องถิ่น
สิ่งที่ประชาชนจะได้คือ ปัญหาในพื้นที่จะได้รับการตอบสนองทันท่วงที มีคุณภาพชีวิตที่ดีในบ้านเกิด ไม่ต้องเข้าสู่เมืองใหญ่ มีส่วนร่วมมากขึ้นในฐานะพลเมือง
ส่วนประเทศชาติก็จะได้ การระเบิดพลังทางเศรษฐกิจ และศักยภาพของประเทศครั้งใหญ่ เกิดการสร้างสรรค์นโยบายใหม่ๆ ที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่
ลดความเหลื่อมล้ำของเมืองหลวงและต่างจังหวัด ประเทศไทยจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลกได้เร็วขึ้น และดีกว่า เพราะไม่ได้รวมศูนย์อำนาจ
“ธนาธร” เองก็คงรู้ตัวว่าโอกาสที่ร่างฉบับนี้จะแท้งก่อนรับหลักการมีสูง ยากที่จะฝ่าด่านอรหันต์พรรครัฐบาล และ ส.ว.ลากตั้งไปได้ ถึงได้ร่อนจดหมายเปิดผนึกถึงพี่น้องประชาชน ผู้บริหารส่วนท้องถิ่น และข้าราชการท้องถิ่นทุกคน
ให้ช่วยกันรณรงค์ ส่งเสียงเรียกร้องไปยังสมาชิกรัฐสภากดดันให้รับหลักการร่างฉบับนี้ เพื่อเป็นสารตั้งต้นของการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น
ที่หลายคนตั้งคำถามว่า เหตุใดประเทศไทยจึงไม่สามารถไปได้ไกลกว่านี้
ทำไมเราจึงสตั๊น อยู่ในสถานะประเทศกำลังพัฒนา รายได้ปานกลางมา 30–40 ปี
รัฐราชการรวมศูนย์คงเป็นคำตอบได้ดี.
เพลิงสุริยะ