เป็นช่วงสัปดาห์แห่งเอเปกโดยแท้ เป็นห้วงเวลาสำคัญของประเทศไทย และพี่น้องประชาชนชาวไทยทุกคน
กับการจัด ประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ครั้งที่ 29 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 14-19 พ.ย.2565 ที่ศูนย์การ ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่ประเทศไทยเราเป็นเจ้าภาพ
ตอกย้ำความสำคัญของภูมิภาคอาเซียน ที่มีการจัดประชุมระดับโลก 3 งานติดๆกัน
ตั้งแต่เวที ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 40 และ 41 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ระหว่างวันที่ 10-13 พ.ย. ต่อด้วย
การจัด ประชุม G20 ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 15-16 พ.ย.
วันนี้ภูมิภาคอาเซียนกลายเป็นภูมิรัฐศาสตร์โลกที่สำคัญไปแล้ว ที่ชาติมหาอำนาจต่างให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเรื่องการค้า เศรษฐกิจ หรือความมั่นคงทางทหาร
ซึ่งทั้งกัมพูชาและอินโดนีเซีย ต่างประสบความสำเร็จในการจัดงาน
เวทีอาเซียนซัมมิต หัวข้อหลักที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยคือปัญหาการเมืองในพม่า
ขณะที่เวที G20 เรื่องหลักคือสถานการณ์ความขัดแย้งในโลก ไม่ว่าจะเป็นสงครามรัสเซีย-ยูเครน และปัญหาช่องแคบไต้หวัน
ทำให้บทบาทกัมพูชาและอินโดนีเซียบนเวทีโลกเด่นชัดขึ้นมา
โดยเฉพาะกับฉากการพบกันของ 2 ผู้นำมหาอำนาจโลกในปัจจุบัน คือ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ และ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน
กับสถานการณ์ร้อนๆในช่องแคบไต้หวันขณะนี้
แม้จะไม่มีข้อยุติ หรือความตกลงใดๆ แต่ภาพการพบปะกันเป็นครั้งแรกแบบตัวต่อตัวของ 2 ผู้นำ ก็ช่วยคลายความวิตกกังวลของทั่วโลกไปได้เปราะหนึ่ง ว่าเวทีการพูดคุยกันยังเปิดกว้างอยู่
กลับมาที่ไทย กับบทบาทในการเป็นเจ้าภาพเอเปกครั้งนี้ ภายใต้ธีม “เปิดกว้าง–สัมพันธ์เชื่อมโยง–สมดุล”
...
อยากให้ นายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้โอกาสนี้ชูบทบาทตัวเองขึ้นมา ให้โลกรู้ว่าแม้จะเป็นผู้นำที่มาจากการยึดอำนาจ และสานต่ออำนาจมาได้ 8 ปี ก็มีดีเหมือนกัน
เพราะหากเทียบความได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์ของไทยกับ 2 ชาติเพื่อนบ้านอาเซียนแล้ว เราเหนือกว่า
อยู่ที่ว่านายกฯประยุทธ์ จะชูบทบาทตัวเองเพื่อช่วยสลายความขัดแย้งต่างๆยังไง
ท่ามกลางวิกฤติ น่าจะยิ่งต้องสร้างโอกาสให้ประเทศไทย
เข้าใจเจตนาดีของท่านว่า ต้องการชู “พลังซอฟต์เพาเวอร์” ของไทยเป็นจุดขายบนเวทีระดับโลกนี้
แต่ลำพังแค่การเปิดเมนูเด็ด “อาหารไทย” ผ่านการรังสรรค์โดยเชฟระดับมิชลิน เลิศหรูแค่ไหน นั่นก็น่าจะเป็นเพียง 1 ในองค์ประกอบของสารัตถะที่จะนำเสนอ
ก็อย่างที่ อาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการแถวหน้าด้านความมั่นคงและการทหาร ให้สัมภาษณ์ หน้า 3 ไทยรัฐ เอาไว้
ว่าหลักคิดซอฟต์เพาเวอร์ แม้เป็นเรื่องใหม่ในทางความคิดบนเวทีโลก แต่ไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงรัฐศาสตร์ การเมืองระหว่างประเทศ ซอฟต์เพาเวอร์เริ่มจากพื้นฐาน “เสน่ห์–แรงจูงใจ”
ถ้าไทยไม่มีเสน่ห์ และสร้างแรงจูงใจไม่ได้ ต่อให้มีจุดเด่นก็ไปต่อไม่ได้
อย่างเกาหลีใต้ ที่สร้างเสน่ห์–แรงจูงใจ จนเกิดเป็นวัฒนธรรมร่วมสมัย เป็นซอฟต์เพาเวอร์ที่ชัดเจน
ทั้งหมดล้วนเกิดจาก ประชาธิปไตย นิติรัฐ สิทธิมนุษยชน เสถียรภาพรัฐบาลภายใต้กระบวนการรัฐสภา
ผมว่าท่านนายกฯน่าจะรับฟัง และนำไปปรับใช้.
เพลิงสุริยะ