การประชุม เอเปก ประจำปี 2565 หรือ การประชุมความร่วมมือ ทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก มีประวัติการก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2532 ปัจจุบันประกอบด้วยสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ รัสเซีย แคนาดา เป็นต้น และต้องถือว่า ประเทศไทย เป็นหนึ่งในประเทศผู้ร่วมก่อตั้งด้วย

ประชากรเอเปก มีอยู่กว่า 2.9 พันล้านคน 1 ใน 3 ของประชากรโลกมี จีดีพี รวมกันแล้วกว่า 53 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 1.7 พันล้านล้านบาท เกินครึ่งของ จีดีพีโลก และการค้าโลก

ด้วยเป้าหมายในการ เปิดการค้าเสรี การลงทุน ความร่วมมือด้านการเกษตร บทบาททางสังคมและมนุษยชน ด้านสาธารณสุข การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และที่น่าสนใจเป็นเทรนด์ในปัจจุบันเป็นเรื่อง เร่งด่วนของโลกก็คือ คาร์บอนเป็นศูนย์ ที่ประเทศไทยตั้งเป้าจะให้เกิดเป็นรูปธรรม เร็วกว่ากำหนด

องค์กรที่ขับเคลื่อนไม่เฉพาะภาครัฐเท่านั้น แต่ต้องเป็นความร่วมมือทุกฝ่ายภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ ที่จะทำงานร่วมกันอย่างมีมาตรฐานเช่น เป้าหมายการปลูกต้นไม้ เพื่อลดมลพิษ กลั่นกรองคาร์บอน และก๊าซเรือนกระจก

ปตท. นำโดย อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. เป็นเจ้าภาพที่สำคัญของงานมีการตั้งคณะกรรมการติดตามการลดคาร์บอนเป็นศูนย์ให้ได้เร็วกว่าเป้าหมายในปี 2030 และ 2050 ตามลำดับ ซึ่งไม่ใช่แค่การลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงที่สร้างมลพิษ การวางเป้าหมายนำเชื้อเพลิงใหม่ๆที่มีมลพิษน้อยถึงน้อยที่สุดมาใช้ เช่น ไฮโดรเจน ที่สามารถมาใช้ได้ในอุตสาหกรรมการผลิต และการขนส่งทั้งทางบก และทางอากาศ การเป็นหุ้นส่วนทางนวัตกรรมใหม่ๆที่สร้างมลพิษในขบวนการผลิตให้น้อยที่สุด เช่น การใช้พลังงานไฟฟ้าในยานยนต์เป็นต้น

การเป็นเจ้าภาพ เอเปก เราจะได้อะไรบ้าง คำตอบเบื้องต้นคือ การค้าการลงทุน ที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงหลังจากหมดยุคของการก่อการร้าย โควิด เป็นปัญหาใหม่ที่ เอเปก จะต้องหาทางออกร่วมกัน

...

ด้านการคลัง การเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นเรื่องใหญ่ในยุคของเศรษฐกิจถดถอย การผลักดัน BCG Economy ในการจัดหาแหล่งทุนอย่างเหมาะสม สมควรที่จะเป็นวาระแห่งชาติ เพราะประเทศในเอเปกมีปัญหาเรื่องของแหล่งทุนที่ไม่สมดุล ทำให้เกิดปัญหาการบริหารจัดการการเงินการคลังของประเทศและการเจริญเติบโตของประเทศที่เกือบจะล้มละลายในหลายประเทศ

ด้านการท่องเที่ยว เป็นปัญหาใหญ่ที่จะนำรายได้เข้ารัฐ เข้าประเทศ ผลจากโควิดทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การบริการ อุตสาหกรรมการบินแทบล่มสลาย

ด้านการเกษตร เป็นเรื่องหลักสำหรับประเทศเกษตรกรรม ที่จะต้องนำความมั่นคงภาคการเกษตรและอาหาร เพื่อส่งเสริมสนับสนุนความปลอดภัยของอาหารโลกและความมั่นคงอาหารในเอเปกโดยการจัดทำแผนปฏิบัติการแผนความมั่นคงด้านอาหารไปจนถึงปี 2030

ด้านป่าไม้ มีการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการต่อต้านการค้าไม้ผิดกฎหมายและที่เกี่ยวข้อง และจัดทำเครื่องมือในการค้าไม้ถูกต้องตามกฎหมาย

ด้านสตรี ที่จะให้ความสำคัญพลังทางเศรษฐกิจของสตรีในยุคหลังโควิด ในการที่จะสร้างการเจริญเติบโตแบบสมดุลส่งเสริมเครือข่ายสตรีผู้ประกอบการไทย ไปขยายผลในเอเปก สร้างโอกาสและบทบาทของสตรีให้มากขึ้น

ด้านการส่งเสริมเอสเอ็มอี ด้านสาธารณสุข ทั้งความร่วมมือในการ ลงทุนด้านสุขภาพ การนำเทคโนโลยีมาใช้ในทางการแพทย์ และสาธารณสุข ลดผลกระทบของภัยคุกคามทางสุขภาพต่อเศรษฐกิจที่จะนำไปสู่เป้าหมายสูงสุด

นั่นคือการแก้ไขปัญหาความยากจนของประชากรในเอเปกให้หมดไป.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th