ดูเหมือนว่านายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลผสม จะเคยขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปรับรัฐมนตรีพรรคประชาธิปัตย์ โดยให้แต่งตั้งคนอื่นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย แทนนายนิพนธ์ บุญญามณี และนายกรัฐมนตรีรับปากแล้ว แต่บอกให้รอเวลา

เหตุที่ไม่ได้สนองความต้องการ ของรองนายกรัฐมนตรีในทันที อาจเพราะ ตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการของพรรคพลังประชารัฐ ก็ยังว่างอยู่ถึง 2 ตำแหน่ง ว่างมานานแรมปไม่มีการแต่งตั้งคนใหม่ ถ้าจะแต่งตั้งรัฐมนตรีพรรคประชาธิปัตย์ อาจเกิดความเคลื่อนไหวในพรรค พปชร. เพราะมีคนอยากเป็นอยู่มาก

การปรับรัฐมนตรีจึงต้องรอต่อไป ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า อาจมีการยุบสภาในวันที่ 24 ธันวาคม บ้างก็ว่ายังไม่ยุบในปีนี้ แต่อาจยุบตอนปลายเดือนกุมภาพันธ์ หรือต้นเดือนมีนาคม 2566 เมื่อจวนจะสิ้นอายุของสภาผู้แทน ราษฎร อ้างว่าเป็น “เทคนิคทางกฎหมาย” ดัดหลัง ส.ส.ย้ายเข้าพรรคใหม่ไม่ทันเวลา

มีรายงานข่าวว่านายจุรินทร์ให้สัมภาษณ์สื่อว่า ถ้าจะยุบสภา นายกรัฐมนตรีควรปรึกษาคณะรัฐมนตรี เป็นความเห็นที่ถูกต้องตามระบบรัฐสภา โดยเฉพาะประเทศที่มีรัฐบาลผสมหลายพรรค หัวหน้ารัฐบาลจะต้องปรึกษารับฟังความเห็นจากรัฐมนตรีพรรคอื่นๆ เพราะเป็นปัญหาสำคัญ มีผลกระทบทางการเมือง

การปกครองระบบรัฐสภา อาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ระบบคณะรัฐมนตรี” คือการปกครองประเทศโดยคณะรัฐมนตรี ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเรียกว่า “Prime Minister” แปลว่า “รัฐมนตรีคนที่หนึ่ง” เพราะถือว่ารัฐมนตรีแต่ละคนมีสถานะเท่าเทียมกัน รับผิดชอบร่วมกันในการบริหารประเทศ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นเบอร์หนึ่ง

...

ต่างจากระบบประธานาธิบดี แบบอเมริกัน ที่แยกอำนาจบริหารกับนิติบัญญัติ ประธานาธิบดีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร มีอำนาจเหนือคณะรัฐมนตรี ตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลอเมริกัน ไม่เรียกว่า Minister แต่เรียกว่า Secretary ซึ่งแปลตามตัวอักษรว่า “เลขานุการ” คล้ายกับว่ามีสถานะเป็นเลขานุการของประธานาธิบดี

แต่ในระบบรัฐสภาแบบอังกฤษหรือไทย รัฐมนตรีมีสถานะเท่าเทียมกัน คำกล่าวในวงการเมืองที่ว่า “การยุบสภาเป็นอำนาจของนายกฯแต่เพียงผู้เดียว” อาจจะขัดต่อระบบรัฐสภา แม้แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ก็ระบุว่า คณะรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบร่วมกัน ในการกำหนดนโยบาย และดำเนิน นโยบายของคณะรัฐมนตรี น่าจะรวมทั้ง การยุบสภา.