ในช่วงที่การเมืองกำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม บรรดาพรรคการเมืองเดินหน้า จัดเต็มนโยบายขายเสียง ทั้งประชานิยม ประชารัฐ สวัสดิการรัฐ บัตรคนจน คนละครึ่ง ลดแลกแจกแถม ซื้อ 1 แถม 1 ปัญหาที่จะตามมาก็คือเมื่อนำไปเป็นนโยบายแล้วไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้ ไม่ต้องอะไรมาก เรื่องค่าแรงขั้นต่ำ จนทุกวันนี้แม้อัตราเงินเฟ้อจะพุ่งไปขนาดไหน แต่ค่าแรงขั้นต่ำก็ยังไม่สอดคล้องและเหมาะสมกับค่าครองชีพของชาวบ้านอยู่ดี และบางเรื่องไม่ว่าจะเป็นอัตราแลกเปลี่ยน หรือ

ค่าแรงขั้นต่ำที่ชอบประกาศล่วงหน้าว่า รัฐบาลประกันค่าแรงขั้นต่ำเท่านั้นเท่านี้ จะมีผลกระทบกับการตัดสินใจในการลงทุนของนักลงทุนทันที

ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยลบที่จะทำให้นโยบายไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรายได้และงบประมาณของประเทศ ถ้าจะให้ต้องกู้เงินเพื่อนำมาใช้ในนโยบายประชานิยมตลอดปีตลอดชาติ เป้าหมายคือคะแนนนิยมอย่างเดียว ในภาวะที่เศรษฐกิจสดใส เงินสำรองล้นประเทศไม่ค่อยน่าห่วง แต่เศรษฐกิจในยามนี้ ไม่ตายก็เลี้ยงไม่โต แม้แต่ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ อังกฤษ เยอรมนี เริ่มประกาศใช้นโยบายจัดสรรปันส่วนพลังงานกันแล้ว ประเทศเล็กๆที่กำลังพัฒนาอย่างเรา จะมีเอาอะไรไปต้านทานกับพายุเศรษฐกิจรอบนี้ได้

ปัญหาของเราคือ จมไม่ลง ไม่ยอมรับความจริง หวังผลแบบฉาบฉวยมากกว่า จะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ วันนี้ พรรคเพื่อไทย เจ้าพ่อประชานิยม เสนอนโยบาย พรุ่งนี้เพื่อไทย เพื่อรายได้ใหม่ของประชาชน สร้างความหวังที่จะให้ประชาชนลืมตาอ้าปากจาก วิกฤติเศรษฐกิจปากท้อง การันตีโดยทีมครอบครัวเพื่อไทย นำโดยหัวหน้าครอบครัว แพทองธาร ชินวัตร ประธานกรรมการนโยบายพรรค นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช และหัวหน้าพรรค นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รองหัวหน้าพรรค สุทิน คลังแสง ก็ยังไม่เห็นทีมเศรษฐกิจของเพื่อไทย ฉบับเต็ม ที่จะเข้ามากู้ซากเศรษฐกิจของประเทศให้ผ่านวิกฤติไปได้อย่างเป็นรูปธรรม เพราะนโยบายพรรคการเมืองยังยึดหลักประชานิยมแค่จุดเดียว

...

พรรคที่ถือว่าเป็นขั้วการเมืองคู่แข่งกับเพื่อไทยก็คือ พลังประชารัฐ พรรคนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องของทีมเศรษฐกิจ มีแต่แข่งกันเป็นทีมประชาสัมพันธ์ บางทีก็พาเข้ารกเข้าพง ที่พอจะออกมาพูดเรื่องเศรษฐกิจรู้เรื่องมีไม่กี่คน อย่าง ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ อดีต รมช.แรงงาน ซึ่งในปัจจุบันถูกเบียดแทบจะไม่มีบทบาทอะไรในพรรค

วันก่อนแสดงความเห็นเรื่องของ กองทุนรวมเพื่อสังคม ที่จะลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ ในแนวทางการเก็บภาษีบนหลักการที่จะนำไปใช้เพื่อจุดประสงค์ สร้างความเท่าเทียม กระจายรายได้ ด้วยการเก็บภาษีคนรวยมาช่วยคนจน ตามโครงสร้างการอุดหนุนและชดเชยกับการนำมาพัฒนาประเทศด้านโครงสร้างพื้นฐาน นอกจากรายจ่ายประจำภาครัฐ

ในบริบทที่ว่าการทำงบประมาณขาดดุลจะต้องเป็นไปตามเพดานเงินกู้ ที่ร้อยละ 60 ของจีดีพี และร้อยละ 30 ของประมาณการรายได้ประจำปี ในปัจจุบันขยายเพดานเป็นร้อยละ 70 และร้อยละ 35 ตามลำดับทำให้เป็นอุปสรรคในการที่จะบริหารจัดการงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นจำเป็นต้องหันมาใช้แหล่งเงินทุนจากตลาดทุน หรือกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานและภาคเอกชนและกองทุนรวมเพื่อสังคมที่จะลดความเหลื่อมล้ำและแก้ปัญหาความยากจน ตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ ไม่ว่าพรรคไหนจะมาบริหารประเทศ ชาวบ้านก็ได้ใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน เป็นความคิดที่เข้าท่ายึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เป็นเหตุเป็นผลไม่ใช่ประชานิยมแบบสุดโต่ง.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th