ถึงเวลาเราคัมแบ็กมากกว่าเดิมแน่นอน!! ชิมลางประกาศหยั่งเชิงทดสอบกระแส หลังพรรคเพื่อไทยย้ำชัดทุกเวทีขอ “ชนะแบบแลนด์สไลด์” ตามด้วยพรรคก้าวไกล “ปลุกใจเปลี่ยนเกม ก้าวไกลทั้งแผ่นดิน” ตบท้ายพรรคภูมิใจไทยขอเป็น “ขั้วหลักทางการเมือง”

โดย นายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และผู้อำนวยการเลือกตั้ง นิยาม “คัมแบ็ก” ให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า ทุกเขตเลือกตั้งเราจะได้มากกว่าเดิม
การเลือกตั้งครั้งหน้ามั่นใจได้ ส.ส.70-80 ที่นั่ง ทุกภาคได้ ส.ส.เพิ่มแน่นอน รวมถึงพื้นที่ กทม. โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้จะได้ 40 ที่นั่งจาก 58 ที่นั่ง เดิมได้ 22 ที่นั่งจาก 50 ที่นั่ง
แม้ทุกพรรคปักธงกวาด ส.ส.ที่ภาคใต้ หากย้อนกลับไปสมัยก่อน แข่งขันรุนแรงกว่านี้ทั้งในยุคพรรคกิจสังคม ยุคพรรคพลังธรรม ยุคพรรคความหวังใหม่ จนมาถึงคิวของพรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย
เหตุการณ์แบบนี้เป็นเรื่องปกติตามระบอบประชาธิปไตย ต้องมีการแข่งขัน บางจังหวะพี่น้องภาคใต้ก็ลงโทษ ปชป.บ้าง ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วบางครั้งบางครา
...
ยอมรับหลังการยึดอำนาจ ปชป.อ่อนยวบลงทุกครั้ง
เพราะมีสาเหตุจากหลายปัจจัย อาทิ ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง มีการตั้งพรรคใหม่ขึ้นมา ส.ส.ปชป.จะถูกดึงตัวทุกรอบ ไม่ได้ตกใจอะไร
เมื่อตั้งลำได้ หลังจากมีการเตรียมตัวการเลือกตั้งมายาวนานกว่าทุกครั้ง ได้อุดช่องว่างตามรอยต่อไปได้เยอะมาก เชื่อว่าเอาทุกพื้นที่กลับมาได้ แม้ภาคอีสานที่เป็นจุดอ่อนของ ปชป.มาหลายยุค คราวนี้พยายามเจาะลงไปให้ได้

ขณะนี้วางตัวผู้สมัคร ส.ส.พื้นที่เป้าหมายหลักเกือบครบถ้วน 100% แล้ว และนโยบายที่ใช้รณรงค์หาเสียง เพื่อพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม คาดชัดเจนเดือน พ.ย.นี้
ปัจจัยที่ทำให้ได้ ส.ส.เพิ่ม มาจากการเลือกตั้งใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ รวมถึงการทำงานในนามพรรคร่วมรัฐบาลนโยบายหลักถูกผลักดันเป็นผลสำเร็จทั้งหมด
อาทิ ประกันรายได้เกษตรกร ทั้งข้าว-มันสำปะหลัง-ข้าวโพด- ปาล์ม-ยางพารา สร้างเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร อย่างน้อยมีหลักประกันให้ 4 ปีแทบไม่เห็นม็อบชาวนา ม็อบเกษตรกร มาเรียกร้องที่ทำเนียบรัฐบาล
ภาพรวมโครงสร้างเศรษฐกิจ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ หัวหน้า ปชป. ก็ปั๊มการส่งออกเติบโต 4-5 ล้านล้านบาทต่อปี ชดเชยรายได้จากการท่องเที่ยวที่หายไป
สินค้าแพง รัฐบาลก็ใช้นโยบายการคลังมาแก้ปัญหา ผ่าน “มาตรการคนละครึ่ง” จุดนี้ขั้วการเมืองตรงข้ามอาจไม่เข้าใจ กระทรวงพาณิชย์ไม่แก้อะไร ก็งัดมาตรการคนละครึ่งช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน
พิสูจน์ว่านี่แก้ปัญหาเศรษฐกิจยามบ้านเมืองมีวิกฤติ
ต้องยอมรับ 76 ปีที่ผ่านมานับเป็นสถาบันการเมืองที่เบ้าหลอมบ่มเพาะคนรุ่นแล้วรุ่นเล่า บุคลากรใน ปชป.มี 3 วัย ทั้งออริจินัล-วัยกลาง-รุ่นใหม่ หรือรุ่นประสบการณ์-รุ่นขับเกี่ยวขับพลัง-รุ่นใหม่ ผสมผสานกันตลอด ผ่านนโยบายการบริหารประเทศ การทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ
โดยมีอุดมการณ์ทันสมัย ปชป.มาจับ ค่อยๆซึมลึก ค่อยๆประคอง บ่มเพาะ สร้างวัฒนธรรมทางการเมือง ปูทางให้คนรุ่นใหม่ต้องขึ้นมาแบกรับภารกิจเหล่านี้
ทำให้นโยบายหาเสียง การบริหารประเทศ ในแต่ละยุคที่ ปชป.เป็นรัฐบาล ไม่หวือหวา แต่สร้างความมั่นคงให้ประเทศทุกด้าน และไม่สร้างภาระแก่ประเทศในอนาคต

อาทิ อุดมการณ์ข้อที่ 5 เมื่อ 6 เม.ย.2489 พรรคจะกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมากที่สุด เพราะท้องถิ่นอยู่ใกล้ชิดประชาชน ทุกครั้งที่เราเป็นรัฐบาลถึงชอบกระจายอำนาจมาตลอด แบบค่อยเป็นค่อยไป
ปชป.ไม่ใช้วิธีหักพร้าด้วยเข่า ทำให้เดินอย่างมั่นคง โดยให้โครงสร้างใหม่ค่อยๆทดแทนโครงสร้างเก่า ป้องกันเกิดความขัดแย้ง ระหว่างอำนาจใหม่กับอำนาจเก่า
“กระจายโอกาส-กระจายอำนาจ-กระจายงบประมาณสู่ท้องถิ่น สมัยท่านชวน หลีกภัย เป็นนายกฯก็ยืนยันเรื่องนี้ จนเกิดองค์การบริหารส่วนตำบลจนถึงทุกวันนี้
การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเช่นกัน ถ้าเลือกทั่วประเทศ อาจมีปัญหา ควรเน้นจังหวัดที่มีความพร้อมก่อน
รวมถึงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เราก็เสนอออกกฎหมาย จนมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ถึงทุกวันนี้ หากเป็นรัฐบาลอีกสนับสนุนการกระจายเต็มที่ เพราะการกระจายอำนาจเป็นตัวตนของ ปชป. นับเป็นเทรนด์คนรุ่นใหม่ที่อยากจะเห็น”
สะท้อนให้เห็นว่าอุดมการณ์ ปชป.ทันสมัย
อุดมการณ์ทุกข้อตั้งแต่ก่อตั้ง ปชป.ล้วนทันสมัย ถูกผลักดันเป็นนโยบายด้านต่างๆ เพื่อเริ่มต้นสิ่งที่ดีๆเอาไว้ต่อยอด อาทิ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาหรือ กยส. อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรือ อสม. เงินผู้สูงอายุ

ขณะเดียวกันเวลาบ้านเมืองวิกฤติการเมือง วิกฤติเศรษฐกิจ เป็นจังหวะที่รัฐบาล ปชป.ต้องเข้าไปแก้ อย่างในปี 40 วิกฤติต้มยำกุ้ง รัฐบาลก่อนหน้านั้นกู้เงินไอเอ็มเอฟ พอ ปชป.เป็นรัฐบาล ณ วันนั้นไทยมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสุทธิไม่กี่ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐฯเท่านั้น
ก่อนหมดวาระรัฐบาลชวน 2 ปี 44 ภาพรวมเศรษฐกิจพลิกฟื้นคืนสู่ปกติ มีทุนสำรองระหว่างประเทศสะสมเกินกว่า 30 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รัฐบาลชวนเอาประเทศไทยออกจากไอเอ็มเอฟ
บ้านเมืองมีวิกฤติ ปชป.มักมีโอกาสเข้ามากอบกู้ เลือกตั้งคราวที่แล้วมีเหตุการณ์พิเศษและเจอวาทะ “ความสงบจบที่ลุงตู่” ปชป.จากยืนหนึ่งทางขั้วการเมืองต้องพ่ายแพ้ เลือกตั้งครั้งหน้าจะขาย “ฟื้นไข้เศรษฐกิจปิดเกมที่ ปชป.” นายนิพนธ์ บอกว่า ปัญหาใหญ่ทางเศรษฐกิจในอนาคตคือ เรื่องปากท้อง
บุคลากรด้านเศรษฐกิจพร้อมสรรพ ทั้งนายพิสิฐ ลี้อาธรรม อดีต รมช.คลัง มีประสบการณ์กอบกู้วิกฤติต้มยำกุ้ง นายเกียรติ สิทธีอมร นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี
โดยหัวหน้า ปชป.มอบหมายต้องมีนโยบายสร้างความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และอย่างที่บอกว่า ปชป.มีบุคลากร 3 รุ่น ที่บอกทิศทางการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ระดับภูมิภาค ระดับโลก
ปชป.มองทะลุท่ามกลางความขัดแย้งเช่นนี้พาไทยรอดได้อย่างไร

“อาหารจ่อกลายเป็นวิกฤติโลก อย่างน้อยที่สุดประเทศไทยต้องเป็นพื้นที่มีความมั่นคงทางด้านอาหาร
ปชป.มีนโยบายจัดการครบลูป โดยหัวหน้า ปชป.กำลังดูอยู่ ต้องตอบโจทย์ให้ได้ก่อนนำเสนอต่อสาธารณะ ไม่ใช่นำเสนอนโยบายหวือหวา คิดเอาเฉพาะคะแนนเสียง
คิดอะไรในฐานะเป็นสถาบันต้องรับผิดชอบพรรครุ่นหลังด้วย แม้ถูกแซะ ปชป.คร่ำครึ แต่เป็นความรอบคอบบนความรับผิดชอบ ไม่เป็นภาระงบประมาณแผ่นดิน”
สภาพ ปชป.เมื่อไหร่เลือดถึงหยุดไหล นายนิพนธ์ บอกว่า ผมเป็นลูกหม้อ ปชป. มองเป็นเรื่องปกติ เกิดขึ้นทุกยุค มีคนออกคนเข้า
บางช่วงไหลออกแบบสึนามิ เช่น เหตุการณ์ 10 มกรา 30 ออกทีละครึ่งพรรค ขัดแย้งรุนแรงมากในคราวนั้น
ต้องยอมรับว่า ปชป. เป็นตักศิลาในทางการเมืองของประเทศไทย ใครวิชาแกร่งกล้าก็ไปตั้งสำนักอื่น แต่น้อยมากที่ประสบความสำเร็จเท่าที่เห็นมีคนเดียวเดินถึงเป้าหมายคือ นายสมัคร สุนทรเวช ที่ได้เป็นนายกฯ

ถึงเวลา ปชป.จะเบียดไปเป็นหนึ่งในขั้วการเมืองทางเลือกได้อย่างไร นายนิพนธ์ บอกว่า บนการแข่งขัน 2 ขั้วการเมือง สุดท้ายหลังเลือกตั้งใครรวมเสียงได้มากกว่าก็เป็นความชอบธรรมตั้งรัฐบาล
ขณะเดียวกัน ปชป.เคยเห็นมาแล้ว สมัยรัฐบาลชวน 35/2 หลังพฤษภาทมิฬ ท่านประกาศเชื่อมั่นในระบบรัฐสภาและสร้างความเชื่อมั่นโดยการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยระบบรัฐสภา
ไม่ใช่เอาคนลงถนน ไม่ปะทะกัน
ทำให้ ปชป.เป็นแกนนำตั้งรัฐบาล
ห่วงแค่ไหนระหว่างรักษาการรัฐบาลยาวกับเลือกตั้งเป็นโมฆะ นายนิพนธ์ บอกว่า ผมว่ายาก เพราะการเมืองตอนนี้ต้องเดินตามกรอบรัฐธรรมนูญ แทนที่จะเดินออกสู่ถนนใหญ่...
...ดันเดินเข้าไปในซอย กลับตัวลำบาก
ในอดีตทางตัน มีให้เห็นหลายครั้งแล้ว.
ทีมการเมือง