ไทยกับอังกฤษมีอะไรหลายอย่างที่คล้ายกัน ทั้งสองประเทศเป็นราชอาณาจักร การปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีสัมพันธไมตรีต่อกันมายาวนาน ไทยได้แบบอย่างการปกครองระบบรัฐสภา มาจากอังกฤษ แต่กลายเป็นประชาธิปไตยที่ล้มลุกคลุกคลาน จึงควรดูการเมืองอังกฤษเป็นแบบอย่างต่อไป

ผลการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษ ได้สุภาพสตรีเป็นคนที่ 3 ได้แก่ นางลิซ ทรัสส์ อายุ 47 ปี เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ที่เฉือนเอาชนะนายริชี ซูแน็ก อดีตรัฐมนตรีคลัง จากพรรค อนุรักษ์ทั้งสองคน วิธีการเลือกนายกฯ เริ่มต้นด้วยการให้ ส.ส.ของพรรคออกเสียง 4 ครั้ง นางทรัสส์ เป็นที่ 3 เพิ่งจะแซงขึ้นมาเป็นที่ 2 ในรอบที่ 5

การเลือกนายกฯครั้งนี้ มีผู้เข้าชิงถึง 8 คน ส่วนใหญ่เป็นรัฐมนตรีหรืออดีตรัฐมนตรี ที่ยกพวกลาออกเพื่อกดดันนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ให้ลาออก เพราะถือว่าประพฤติผิดร้ายแรง นั่นก็คือจัดปาร์ตี้ฉลองในทำเนียบรัฐบาล ขณะที่รัฐบาลสั่งห้ามประชาชนมั่วสุม แต่ฝ่ายค้านไม่สามารถล้มรัฐบาลได้ เพราะเป็นเสียงข้างน้อย

พรรครัฐบาลจึงต้องโค่นนายกฯเสียเอง เริ่มด้วยการลงมติของ ส.ส.พรรค และตัดสินด้วยเสียงสมาชิกพรรค ราว 160,000 คน ในการออกเสียงรอบสุดท้าย ผลของการกดดันของบรรดารัฐมนตรี รวมทั้ง ส.ส.และสมาชิกพรรคทำให้นายจอห์นสันประกาศจะลาออก ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ฐานจัดปาร์ตี้ในทำเนียบรัฐบาล

ส่วนในประเทศไทย แม้จะถูกกล่าวหาว่าละเมิดกฎหมายสูงสุด แต่นายกรัฐมนตรีก็ยังเฉย เหตุที่ระบบรัฐสภาเคยล้มเหลว ทั้งที่ลอกแบบมาจากต้นตำรับ เพราะลอกแบบมาเฉพาะตัวอักษร ไม่ได้เอาจิตวิญญาณของระบบรัฐสภามาด้วย ตามระบบรัฐสภา นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. และเป็นหัวหน้าพรรคเสียงข้างมากในสภา

แต่ระบบรัฐสภาไทย นายกฯไม่ต้องเป็น ส.ส. ไม่ต้องเป็นหัวหน้าพรรคเสียงข้างมาก เพราะวิธีการเลือกตั้งของไทย ไม่มีทางจะได้พรรคเสียงข้างมาก ที่จะจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว หรือรัฐบาลผสมน้อยพรรค เพื่อให้เป็นรัฐบาลที่เข้มแข็ง แต่การเลือกตั้งแบบไทย ทำให้มี 26 พรรค ต้องตั้งรัฐบาลผสมเกือบ 20 พรรค

...

กลายเป็นรัฐบาลที่อ่อนแอ ไม่สามารถบริหารประเทศตามนโยบายที่สัญญา เป็นระบบ “นายกฯขาลอย” เพราะไม่ได้เป็นแม้แต่สมาชิกพรรคใดๆ จึงไม่อาจคุมเสียงในสภา ต้องคอยนั่งพะวงสภาจะล่มเมื่อไหร่ ร่างกฎหมายสำคัญจะถูกคว่ำหรือไม่ และนายกฯจะถูกแทงข้างหลัง ด้วยการลงมติไม่ไว้วางใจของ ส.ส.รัฐบาลเมื่อไหร่.