“ไทกร พลสุวรรณ” อ้างเอกสารหลุดว่อน “มีชัย” เปิดช่อง “บิ๊กตู่” ยังเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ครบ 8 ปี ชี้ เริ่มนับจากรัฐธรรมนูญปี 60 มีผลบังคับใช้ พร้อมตั้งคำถามใช่ “มีชัย” คนเดียวกันหรือไม่

วันที่ 6 ก.ย. 2565 นายไทกร พลสุวรรณ แกนนำคณะสามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทย หรือ คณะไทยไม่ทน ไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊ก อ้างว่ามีเอกสารหลุดว่อนในโซเชียลมีเดีย เกี่ยวกับความเห็นเกี่ยวกับมาตรา 264 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เรียนประธานศาลรัฐธรรมนูญ โดยอ้างถึงหนังสือเรียกของศาลรัฐธรรมนูญที่ 40/2565 ลงวันที่ 24 ส.ค. 2565 วันเดียวกับที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย กรณีการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ซึ่ง นายมีชัย ส่งเรื่องเกี่ยวกับมาตรา 158 และมาตรา 264 ในประเด็นดังกล่าว เพื่อศาลจะใช้ประกอบการพิจารณา พร้อมยกบางท่อนบางตอนจากการชี้แจงที่ระบุว่า

ตามบทเฉพาะกาล ตามมาตรา 264 สามารถนับรวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีดังกล่าวเข้ากับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ หรือไม่ และนับแต่เมื่อใดนั้น ข้าพเจ้ามีความเห็นในประเด็นดังกล่าวดังต่อไปนี้

“รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560 ผลบังคับจึงมีตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560 เป็นต้นไป และไม่อาจมีผลไปถึงการใดๆ ที่ได้ดำเนินการมาแล้วโดยชอบก่อนวันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้ใช้บังคับ เว้นแต่จะมีบทบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ”

...

นายไทกร ขยายความว่า ข้อห้าม คุณสมบัติใดๆ ก็ตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถ้าไม่มีบทบัญญัติไว้จะไม่มีผลย้อนหลัง เว้นแต่มีบทบัญญัติไว้เฉพาะว่าให้มีผลย้อนหลัง โดยเป็นความเห็นของ นายมีชัย ต่อระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ที่ทำเรื่องชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ

ส่วนที่อ้างถึงมาตรา 264 วันที่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้คือ 6 เม.ย. 2560 โดยผลดังกล่าวบทบัญญัติทั้งปวงของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 รวมทั้งบทเฉพาะกาลที่ผ่อนปรน จึงมีผลต่อคณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560 อันเป็นวันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับเป็นต้นไป และระยะเวลาตามมาตรา 158 วรรคสี่ จึงเริ่มนับตั้งแต่บัดนั้น คือ วันที่ 6 เม.ย. 2560 เป็นต้นไป

นายไทกร กล่าวต่อไปว่า ถ้าเป็นจริงตามเอกสารนี้ ซึ่งส่วนตัวเชื่อโดยสุจริตใจว่าเป็นจริง รู้สึกสงสัยว่า นายมีชัย ที่ทำเรื่องไปชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 7 ก.ย. 2561 กับวันที่ 24 ส.ค. 2565 เป็นนายมีชัยคนเดียวกันหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้เคยมีเอกสารความเห็นออกมาว่าให้นับรวมระยะเวลาการดำรงตำแหน่งก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ มารวมด้วย ซึ่งมีการชี้แจงในครั้งนี้ว่า

“ในส่วนที่เกี่ยวกับคำกล่าวของข้าพเจ้า (นายมีชัย) ขอเรียนว่าเป็นการจดรายงานที่ไม่ครบถ้วน เป็นการสรุปตามความเข้าใจของผู้จด คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญยังไม่ได้ตรวจรับรองรายงานการประชุมนั้น เพราะเป็นการประชุมครั้งสุดท้าย และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้แระกาศสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ วันที่ 12 ก.ย. 2561 ความไม่ครบถ้วนดังกล่าวอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้ ในการรายงานการประชุมดังกล่าวมีข้อผิดพลาดอยู่หลายประการ”

พร้อมกันนี้ นายไทกร มองว่า เป็นการโยนความผิดให้เจ้าหน้าที่ชวเลข ซึ่งการทำงานในส่วนนี้จากประสบการณ์เจ้าหน้าที่ชวเลขจะจดทุกคำพูดไม่มีผิดเพี้ยน ในสมัยใหม่ยังมีการบันทึกเป็นคลิปไว้ทั้งหมดด้วย และเอกสารก็มีการตรวจบันทึกรับรองแล้ว มีการอ้างในส่วนที่เกี่ยวข้องมาโยง ซึ่งส่วนตัวมองว่าน่าจะเป็น นายมีชัย คนละคน เพราะถ้าเป็นคนเดียวกันคงไม่มีความเห็นแตกต่างกันขนาดนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 8 ก.ย.นี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้เรียกประชุมนัดพิเศษเพื่อพิจารณาคดีวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งมีรายงานอีกว่า นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ แจ้งว่า ได้รับคำชี้แจงของพยาน 3 ปาก เรียบร้อยแล้ว คือ คำชี้แจงของ พล.อ.ประยุทธ์ ผู้ถูกร้อง, นายมีชัย อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และ นายปกรณ์ นิลประพันธ์ อดีตเลขานุการคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จึงนัดประชุมพิเศษวันดังกล่าวขึ้น เพื่อที่จะอภิปรายคำชี้แจงและหลักฐานต่างๆ ว่า สิ้นข้อสงสัยเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้แล้วหรือไม่ หากยังไม่สิ้นข้อสงสัยต้องแสวงหาหลักฐานและพยานเพิ่มเติมต่อไปหรือไม่ แต่หากสิ้นข้อสงสัยจะนัดลงมติวินิจฉัยได้เลย เป็นไปตามระเบียบวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ โดยต้องทอดเวลาออกไปอีกอย่างน้อย 15 วัน เพื่อนัดลงมติวินิจฉัยคดีนี้.