กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ชี้ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 15 แห่ง สามารถตรวจและรายงานผลโรคฝีดาษลิง ได้ภายใน 24 ชั่วโมง แนะ เก็บตัวอย่างแบบทำ throat swab และบริเวณบาดแผลที่สงสัย จะมีความแม่นยำสุด

วันที่ 1 สิงหาคม 2565 เมื่อเวลา 13.30 น. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงการเฝ้าระวัง และเก็บตัวอย่างในห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โรคฝีดาษ ว่า มีการตรวจหาสารพันธุกรรมในระดับ 2 แบบเสริมสมรรถนะ ส่วนการเพาะเลี้ยงเชื้อและการวิจัยต้องทำในห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 3 เท่านั้น โดยทางเจ้าหน้าที่จะมีการตรวจสารพันธุกรรมไวรัสจีนัส (Orthopoxvirus) เพื่อหายีนเฉพาะ 1 ตำแหน่ง หากผลเป็นบวกจะมาตรวจ PCR test เฉพาะ เพื่อหาฝีดาษลิง (Monkeypox virus) ในยีนเฉพาะอีก 1 ตำแหน่ง เพื่อยืนยันอย่างชัดเจนว่าติดเชื้อ แล้วจึงสามารถรายงานว่าติดเชื้อได้ เพื่อให้เป็นมาตรฐานกับหน่วยงานที่ส่งตรวจ ซึ่งเป็นมาตรการของ องค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ทำร่วมกับกรมควบคุมโรคอยู่ โดยปัจจุบันศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 15 แห่ง สามารถตรวจและรายงานผลไปที่หน่วยผู้ส่งกองระบาดได้ใน 24 ชั่วโมง

...

นพ.บัลลังก์ ยังกล่าวอีกว่า การเก็บตัวอย่างฝีดาษลิงยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเก็บจากที่ใดเพื่อให้ได้เชื้อมากที่สุด แม้แต่ WHO ก็ยังไม่สามารถระบุได้ จึงมีการเก็บตัวอย่างที่ตำแหน่งตุ่ม หนอง โดยใช้เข็มปราศจากเชื้อ รวมถึง swab จากปากแผล หรือแผลที่ตกสะเก็ดแล้ว ทำการ Scratch test (การทดสอบด้วยการสะกิดผิว) ใส่หลอดทดลอง การ swab ในลำคอ และเจาะเลือดร่วมด้วย โดยการใช้ทั้งคอตตอนบัต และการเก็บ EDTA Blood (เป็นสารป้องกันการแข็งตัวของเลือด ซึ่งเหมาะสมสำหรับการตรวจวิเคราะห์ทางโลหิตวิทยา) ที่เป็นตัวอย่างในการส่งตรวจตามห้องปฏิบัติการ ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องเก็บหมดทุกตัวอย่าง แค่ได้เพียง 1-2 ตัวอย่างก็สามารถส่งตรวจได้

แต่ นพ.บัลลังก์ แนะนำในสิ่งที่ควรทำมากที่สุด คือการทำ throat swab (ไม้ป้ายคอ) และบาดแผล (lesion) บริเวณที่สงสัย ซึ่ง 2 อย่างนี้ค่อนข้างจะแม่นยำมากที่สุด แต่ถ้าเก็บได้หมดยิ่งดี เพราะสามารถดูไปถึงผลย้อนหลังได้ (Retrospective) ว่าบริเวณใดมีเชื้อมากที่สุด ซึ่งแต่ละประเทศจะมีผลไม่เหมือนกัน เพราะภูมิคุมกันของประชากรไม่เหมือนกัน

ส่วนการเก็บตัวอย่าง (carry) ควรแช่เย็น 2-8 องศาเซลเซียส หากเก็บน้อยกว่า 7 วัน และแช่แข็ง -20 องศาหรือต่ำกว่า หากเก็บรักษานานกว่า 7 วัน ขณะที่บุคลากรที่เก็บตัวอย่าง ควรสวมชุด PPE เหมือนชุดเก็บหาสารโควิด-19 แต่สถานที่เก็บไม่จำเป็นต้องมีห้องความดันลบ (Negative Pressure)

นพ.บัลลังก์ ยังกล่าวว่า สายพันธุ์ฝีดาษลิงที่พบ มี 2 สายพันธุ์ คือ Central African และ Western African โดย Central African มีอัตราการเสียชีวิตมากกว่า Western African ถึง 10 เท่า แต่การระบาดรอบนี้เป็น Western African โดยมี 2 สายพันธุ์ย่อย คือ A.2 และ B.1 ซึ่งที่ไทยเจอทั้ง 2 สายพันธุ์ แต่ที่ฝั่งยุโรปเป็นสายพันธุ์ B.1 และมี A.2 ไม่ถึง 10% ซึ่งขณะนี้ทั้งโลกเป็นการติดเชื้อแบบ B.1