อภิสิทธิ์ชนของนักการเมืองไทย “พ่อ-ลูก” ตระกูลการเมืองคนหนึ่งเป็นรัฐมนตรีอีกคนเป็นนายก อบจ.ถูก ป.ป.ช.สอบพบว่ามีความผิดกรณีรุกป่าที่เขาใหญ่

นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยศึกษาธิการ ได้เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่แล้วอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการตามกฎหมาย

อีกคน นายสุนทร วิลาวัลย์ นายก อบจ.ปราจีนบุรี ผู้เป็นพ่อ ก็ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดเช่นเดียวกัน แต่มีปัญหาว่าคดีในส่วนนี้หมดอายุความแล้ว

คือวันที่ 14 มิ.ย.65

ซึ่งเจ้าหน้าที่นำกำลังเข้าตรวจค้นที่บ้านพักและสถานที่ที่คาดว่าจะไปหลบซ่อนตัวอยู่หลายแห่งแต่ไม่พบตัวจึงไม่สามารถนำตัวมาดำเนินคดีได้

แต่เจ้าหน้าที่ยืนยันว่าแม้คดีนี้จะหมดอายุความไปแล้ว แต่ยังมีอีกคดีรุกป่าเช่นเดียวกัน ซึ่งพบว่ามีความผิดและยังไม่หมดอายุความ

พูดง่ายๆว่าแม้วันนี้คดีหนึ่งหมดอายุความ แต่ยังมีอีกคดีหนึ่งดำเนินคดีต่อไปได้

คดีรุกป่าของ 2 พ่อ-ลูกที่เขาใหญ่นั้นเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ ป.ป.ช.เพิ่งจะมาปิดคดีตอนนี้จนเป็นเหตุให้หมดอายุความ

นี่ก็คือปัญหาหนึ่งในกระบวนการยุติธรรมของไทย

หากเป็นชาวบ้านธรรมดาป่านนี้คงรู้หมู่รู้จ่าเข้าคุกไปนานแล้ว เพราะไม่มีเส้นสายไม่มีเงินที่จะไปไขกุญแจไปสู่ความสำเร็จได้

แต่เมื่อคดียังไม่จบก็ต้องดำเนินการต่อไปใน 2 ส่วน คือ กรณีของนายสุนทรนั้นก็ต้องดำเนินการ เพราะยังมีตำแหน่งนายก อบจ.ก็ต้องให้พ้นจากตำแหน่ง

กรณีของนางกนกวรรณซึ่งเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้นั้น แม้จะมีข่าวว่าจะลาออกจากตำแหน่งแต่ก็ยังไม่เห็นใบลา

ทางพรรคต้นสังกัดก็บอกว่าต้องรอให้ศาลพิจารณาก่อนว่าจะรับคำฟ้องหรือไม่ หากศาลรับว่ามีความผิดจริง

ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งไปโดยปริยาย

...

แต่เนื่องจากมีความผิดต่อเนื่องที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมทางการเมือง ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่ที่นำมาใช้ครั้งแรก

“ปารีณา ไกรคุปต์” อดีต ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ประเดิมเป็นรายแรกจนต้องเข้าหลักประหารทางการเมือง

คือไม่สามารถเข้าสู่การเมืองไปตลอดชีวิต

นางกนกวรรณคงต้องรอว่าศาลจะพิจารณาอย่างไร เพราะถ้าพบความผิดจริงก็จะต้องตกที่นั่งไม่ต่างกัน

ถือเป็นรายที่สองสำหรับนักการเมืองไทย

ความจริงยังมีนักการเมืองอีกหลายคนที่ ป.ป.ช.อยู่ในขั้นตอนการสอบสวน เพราะมีการร้องเรียนว่าบุกรุกป่า

หากมีการตรวจสอบและสอบสวนให้เป็นไปอย่างรวดเร็วก็จะไม่เกิดปัญหาอย่างกรณีที่หมดอายุความ

ในกระบวนการยุติธรรมของไทยนั้น มีกฎหมายระเบียบและข้อบังคับค่อนข้างจะสมบูรณ์อยู่แล้ว แต่ขั้นตอนการดำเนินยังล่าช้าไม่ทันสถานการณ์

จึงต้องมีการแก้ไขหรือหาวิธีการที่ให้การดำเนินการเป็นไปอย่างรวดเร็ว.

“สายล่อฟ้า”