จากชัชชาติแลนด์สไลด์ กลายเป็นชัชชาติฟีเวอร์ ชัยชนะเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯแบบฟ้าถล่มดินทลาย ก่อกระแสความนิยมไม่เฉพาะแค่ กทม. แต่แพร่กระจายไปทั่วประเทศ อยากได้นายกรัฐมนตรีแบบ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มีเสียงเรียกร้องให้เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีความพร้อมแบบเดียวกับ กทม.

แต่น่าจะเป็นข้อเรียกร้องที่ยากเย็นแสนเข็ญ ตราบใดที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้การปกครองของ “กลุ่ม 3 ป.” เพราะเป้าหมายของการยึดอำนาจของคณะรัฐประหาร คสช. ไม่ใช่การสร้างประชาธิปไตยที่แท้ แต่มุ่งสกัดกั้นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น คืนสู่การรวมศูนย์อำนาจสู่ส่วนกลาง ที่เรียกว่า รัฐราชการรวมศูนย์

“การกระจายอำนาจ” หรือ “การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด” ไม่เพียงแต่เคยเป็นนโยบายของบางพรรค แต่รัฐธรรมนูญบางฉบับ เช่น ฉบับ 2540 ได้บัญญัติไว้ในนโยบายพื้นฐานของรัฐ ระบุว่าให้ “พัฒนาจังหวัดที่มีความพร้อม” ให้เป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นขนาดใหญ่ โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในจังหวัดนั้นๆ

พูดง่ายๆให้ยกสถานะของจังหวัดที่มีความพร้อมเป็น อปท.ขนาดใหญ่ทั้งจังหวัด มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการ เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร และเลือกตั้งสมาชิกสภาเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ เช่นเดียวกับ กทม.ที่ทำเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2518 หรือเป็นระบบที่ประชาชนชื่นชอบ มีประสิทธิภาพ ผู้ว่าฯต้องรับผิดชอบต่อประชาชน

ถึงแม้ทุกจังหวัดจะมีการเลือกตั้ง ทั้งนายกและสมาชิกขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) แบบเดียวกับ กทม. แต่เหมือนกับแค่มีการเลือกตั้ง แต่ต่างกันโดยสิ้นเชิงในการปฏิบัติหน้าที่ เพราะ อบจ. ขาดอิสระ ต้องอยู่ภายใต้การกำกับหรือขี่คอ ของผู้ว่าราชการจังหวัดที่เป็นข้าราชการภูมิภาค แต่งตั้งโดยมหาดไทย

...

นับตั้งแต่มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการ กทม. เป็นจังหวัดแรกเมื่อ 47 ปีก่อน ยังไม่มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯจังหวัดอื่นๆ แม้แต่จังหวัดเดียว ทั้งๆที่สถานการณ์เปลี่ยน แปลงไปมาก ประชาชนมีการศึกษามากขึ้น มีมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นทั่วประเทศ มีบัณฑิตเต็มบ้านเต็มเมือง สังคมชนบทกลายเป็นสังคมเมือง มีเมืองใหญ่ๆเกิดขึ้นทุกภาค

เศรษฐกิจเปลี่ยนจากการพึ่งพาเกษตรกรรม มาเป็นอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และภาคบริการ ประเทศกำลังก้าวสู่ยุคดิจิทัล แต่การเมืองกลับล้าหลังแบบสุดโต่ง ยังยึดแนวทางอำนาจนิยม ชอบเปลี่ยนรัฐบาลด้วยรัฐประหาร การเลือกตั้งเป็นแค่พิธีกรรม ขัดขวางทั้งประชาธิปไตยระดับชาติ และระดับท้องถิ่น จะถอยหลังสู่ยุคใดกันแน่.