การลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย 2566 ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น ทำให้ “ส.ส.งูเห่า” ต้องเปิดเผยโฉมหน้าถึง 12 คน จากพรรคเพื่อไทย 7 คน พรรคก้าวไกล 4 คน พรรคเล็กอีกหนึ่งคน พรรคเพื่อไทยประกาศว่าจะส่งเรื่องให้คณะกรรมการจริยธรรมพิจารณา เพื่อขับ ส.ส.ทั้ง 7 คน ออกจากพรรคแน่นอน

ส่วนพรรคอื่นยังไม่มีคำชี้แจง แต่มีเสียงตอบโต้จาก ส.ส.ที่แหกมติพรรคบางคน อ้างว่าเหตุที่แหกมติพรรค เนื่องจากมติพรรคให้ลงมติคว่ำร่าง พ.ร.บ.งบ ประมาณ ซึ่งตนไม่เห็นด้วย บางคนอ้างว่าพรรคไม่มีอำนาจขับ ส.ส.จากพรรค เพราะขัดรัฐธรรมนูญ น่าจะหมายถึงมาตรา 114 ที่ระบุว่า ส.ส.เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย

ส.ส.จึงไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติ หรือความครอบงำใดๆ ส.ส.มีอิสระเสรีในการออกเสียงลงมติ โดยไม่ต้องปฏิบัติตามมติพรรค บทบัญญัติลักษณะนี้ไม่เคยปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นฉบับ 2517 หรือ 2540 ที่ทุกฝ่ายยอมรับว่าสมบูรณ์ที่สุด แต่เพิ่งจะเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญรัฐประหาร

นั่นก็คือรัฐธรรมนูญ 2550 และ 2560 ฉบับสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหาร คสช. เป็นบทบัญญัติที่ขัดกับหลักการของการปกครองระบบรัฐสภา เนื่องจากใน ระบบรัฐสภา รัฐบาลจะต้องมาจากเสียงข้างมากของ ส.ส. และ ส.ส.จะต้องมีระเบียบวินัย ต้องปฏิบัติตามมติพรรค มิฉะนั้นรัฐบาลจะแพ้มติร่างกฎหมายสำคัญๆ

ถ้า ส.ส.ไม่ทำตามมติพรรค รัฐบาลอาจแพ้มติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายถูกคว่ำ รัฐบาลจะต้องลาออก หรือยุบสภา เพราะถือว่าไม่ได้รับความไว้วางใจจากสภา ต้องให้ประชาชนเลือกตั้งใหม่ มีผลเช่นเดียวกับการแพ้มติในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทำให้รัฐบาลอายุสั้น ขาดเสถียรภาพที่จะบริหารประเทศ

แต่ “มติพรรค” จะต้องเป็นประชาธิปไตย เป็นมติที่ผ่านการแสดงความเห็นของ ส.ส. และคณะกรรมการพรรค มติพรรคจะต้องไม่เป็น “คำสั่ง” ของผู้นำพรรคหรือเจ้าของพรรค ทำให้ ส.ส.กลายเป็นเพียงพนักงานบริษัท ต้องฟังคำสั่งเจ้าของบริษัท ขัดต่อหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยที่สากลโลกยอมรับ

...

ภายใต้ระบบรัฐสภา ถ้า ส.ส.ขาดระเบียบวินัย ไม่เคารพมติพรรค ซึ่งเป็นความเห็นของเสียงข้างมาก นึกจะยกมือให้รัฐบาลก็ได้ ยกมือให้ฝ่ายค้านก็ได้ และมีการย้ายพรรคได้ตามใจ รับรองว่าระบบรัฐสภาพังแน่ รัฐบาลจะไม่สามารถบริหารบ้านเมือง การเมืองจะสับสนวุ่นวาย วันๆไม่ต้องทำอะไร ได้แต่ไล่จับ ส.ส.งูเห่า.