เนื่องจากก่อนที่จะมีการ เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก. 1 สัปดาห์ มีระเบียบของ กกต. ห้ามเผยแพร่โพลความนิยมผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. อย่างเด็ดขาด สำราญ ตันพานิช ผอ.กกต.กทม.ระบุชัดเจนว่า สำนักโพลจะทำโพลได้ไม่ว่า แต่จะเผยแพร่ไม่ได้ ไปจนถึงปิดหีบเลือกตั้งในเวลา 17.00 น. ของวันที่ 22 พ.ค. ให้เหตุผลว่าจะได้ไม่เกิดความเสียเปรียบได้เปรียบในการเลือกตั้ง หรือจูงใจให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนไปลงคะแนนให้ผู้สมัครหมายเลขใดเลขหนึ่ง สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่รู้ล่วงหน้าว่าวันที่ 22 พ.ค. ไม่สามารถไปใช้สิทธิลงคะแนนได้ให้แจ้งล่วงหน้าก่อน 7 วันจนถึงวันที่ 21 พ.ค. และหลังการเลือกตั้ง 7 วัน ก็คือถึงวันที่ 29 พ.ค. ก่อน 7 หลัง 7 วันลงคะแนน เป็นที่รู้กันจะยื่นที่เขตหรือทำเป็นหนังสือชี้แจงความจำเป็นมาทางไปรษณีย์หรือแจ้งผ่าน www.bora.dopa.go.th และ www.ect.go.th หรือผ่านทางแอปพลิเคชัน Smart Vote หัวข้อการแจ้งเหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นการรักษาสิทธิทางการเมืองเอาไว้ก่อน
อันที่จริงจะทำโพลหรือไม่ทำโพล ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เที่ยวนี้ ก็ไม่มีความหมายอะไร เพราะการตัดสินใจที่จะเลือกผู้ว่าฯ กทม.ของคน กทม.เที่ยวนี้ไม่ยาก ไม่มีอะไรที่ต้องลังเล พูดง่ายๆคือเลือกง่ายไม่มีอะไรซับซ้อน เป็นความได้เปรียบและเสียเปรียบทางการเมืองของผู้สมัครและพรรคการเมืองเองล้วนๆ
คำถามที่น่าหนักใจมากกว่าจะมา เข้มงวดการทำโพลคะแนนนิยม คือ การป้องกันการใช้อำนาจรัฐ ที่จะมีผลต่อคะแนนการเลือกตั้ง และการชี้นำในลักษณะอื่นมากกว่า คนทั่วไป บุคคลสาธารณะ จะออกมาเชียร์ใครหรือจะเลือกใครเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่ถ้า คนที่มีส่วนได้ส่วนเสียทางการเมืองและอำนาจรัฐ ออกมาชี้นำ อันนี้น่าคิด เพราะส่อว่าจะเกิดทุจริตเชิงนโยบายขึ้น
...
สังเกตดูจากการจัดการดีเบตของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ตามสื่อต่างๆ ไม่ค่อยจะ ครื้นเครง เท่าไหร่ ผู้สมัครที่ไปร่วมรายการ ก็เป็นผู้สมัครหน้าเดิมๆ ส่วนผู้สมัครหน้าใหม่ๆ หรือหน้าเก่าที่ไม่มีโอกาสออกสื่อก็ยังเป็นเหมือนเดิม ซึ่งเท่ากับว่า จัดให้มีการหาเสียงอย่างไม่เท่าเทียมแล้ว
ชื่อผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ที่เห็นถี่ๆ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง, วิโรจน์ ลักขณาอดิศร, สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์, สกลธี ภัททิยกุล, น.ต.ศิธา ทิวารี เห็นหน้ากันอยู่แค่นี้ ที่สื่อให้ความสนใจ ส่วนผู้สมัครบางคนมีโปรไฟล์ ไม่ต่างจากผู้สมัครที่กล่าวมาแล้ว อาทิ รสนา โตสิตระกูล นโยบายที่เสนอรับใช้คน กทม.ก็ไม่ขี้เหร่ แต่ไม่ค่อยจะมีเวที อันที่จริง รสนา จะมีจุดได้เปรียบด้วยซ้ำ ในความเป็นผู้หญิงที่เป็นทางเลือกของคน กทม. เทรนด์ผู้หญิงก็กำลังมาแรง นึกกันเล่นๆไม่แน่ว่า หากคน กทม.อยากได้ผู้ว่าฯ กทม.เป็นผู้หญิงอะไรจะเกิดขึ้น
ถ้าเปรียบมวยกันแล้วมีหลายคู่ที่น่าสนใจ ต้องยอมรับว่าทั้งสถานการณ์และองค์ประกอบต่างๆ ชัชชาติได้เปรียบทุกประตู คนที่เชียร์ พล.ต.อ.อัศวิน หรือสกลธี ก็จะมีเหตุผลทางการเมืองคล้ายๆ กัน เพียงแต่ว่า พล.ต.อ.อัศวินเบอร์ใหญ่กว่า ส่วน วิโรจน์จากก้าวไกล มีการวิจารณ์ว่า ระวังจะเป็นม้ามืด เพราะเด่นเรื่องของนโยบายและ ความคิดที่ถูกจริตกับคนรุ่นใหม่ๆ ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ปัญหาของคน กทม.ทั้งสิ้น เพราะคน กทม.สามารถที่จะช่วยตัวเองตัดสินใจเองได้ไม่ต้องพึ่งพานโยบายรัฐ มีกำลังที่จะพึ่งพาตนเอง แต่คน กทม.มองการเมืองที่ใหญ่กว่านโยบายคือความเป็นผู้นำ
เพราะคน กทม.ก็คือคนที่ล้มรัฐบาล.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th