การเมืองไทยวันนี้มีขบวนการ “ล้มตู่-ชูป้อม” เกิดขึ้น แม้แต่นักวิเคราะห์การเมืองก็ยังมึนงง มีการวางแผนโค่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และสนับสนุน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ให้ดำรงตำแหน่งแทนด้วยการสมคบคิดระหว่างพรรคฝ่ายค้าน กับพรรคใหม่ที่แยกไปจาก พปชร.และกลุ่มพรรคเล็กจริงหรือ

จังหวะเวลานี้ การโค่นนายกรัฐมนตรีอาจไม่ยากเกินไป คอการเมืองประเมินว่าถ้าฝ่ายค้านดึง ส.ส.มาได้อีกราว 30 เสียง จะสามารถโค่นนายกรัฐมนตรีได้ ในการลงมติไม่รับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2566 หรือในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่ถึงจะโค่น พล.อ.ประยุทธ์ได้ พล.อ.ประวิตรก็ยังไม่ได้เป็นนายกฯ

อาจได้เป็นผู้ “รักษาการ” นายกรัฐมนตรี ในฐานะที่เป็นรองนายกฯอันดับที่ 1 แต่ไม่ใช่นายกฯตัวจริง จะต้องให้รัฐสภาเลือกนายกฯคนใหม่ จากผู้มีชื่อเป็นผู้สมัครนายกฯของพรรคต่างๆในการเลือกตั้ง 2562 เช่น นายชัยเกษม นิติสิริ จากพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นฝ่ายค้าน หรือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากประชาธิปัตย์

แต่ทั้งสองท่านมีสิทธิ์ที่จะสอบตก ในการลงมติของ 2 สภา คือ ส.ส. กับ ส.ว. ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีสิทธิ์ เพราะไม่ได้เป็นแคนดิเดตนายกฯของพรรคใด เมื่อเลือกนายกฯไม่ได้ ขั้นต่อไป ส.ส.และ ส.ว.จะต้องเข้าชื่ออย่างน้อยกึ่งหนึ่งเสนอประธานรัฐสภาให้ลงมติยกเว้นไม่ต้องเลือกนายกฯจากคนใน เลือกจาก “คนนอก” ก็ได้

แต่มติยกเว้นต้องมีเสียงสนับสนุนถึง 2 ใน 3 หรือ 500 คนขึ้นไป ซึ่งอาจจะค่อนข้างยาก แต่ถ้ารัฐสภาอนุมัติ ก็จะเดินหน้าเลือกนายกฯต่อไป คราวนี้ พล.อ.ประวิตรมีสิทธิ์ แต่จะมีเสียงสนับสนุนอย่างน้อยเกินกึ่งหนึ่ง หรือ 376 เสียงขึ้นไปหรือไม่ กลุ่มผู้สนับสนุนบิ๊กป้อมอาจเชื่อว่าทำได้ จากเสียงของ ส.ว.กับ พปชร.

...

ต้นเหตุที่ทำให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์อาการร่อแร่ นอกจากการไร้ความสามารถในการบริหารประเทศ โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจปากท้องประชาชนแล้ว รัฐธรรมนูญที่แกนนำ พปชร.คุยว่า “ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” ก็เป็นสาเหตุหนึ่ง ทำให้ได้รัฐบาลผสมเกือบ 20 พรรค ส่วนใหญ่มี ส.ส.แค่พรรคละคน จะตั้งรัฐบาลที่เข้มแข็งได้อย่างไร

อีกปัญหาหนึ่งคือ “ตัวบุคคล” อันได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ แม้รัฐธรรมนูญจะเปลี่ยนจากฉบับชั่วคราว 2557 มาเป็น 2560 แต่ พล.อ.ประยุทธ์ยังคิดว่าตนเป็นหัวหน้า คสช.มีอำนาจเบ็ดเสร็จ และทำผิดระบบรัฐสภา ไม่ยอมเป็นหัวหน้าพรรค ไม่สามารถคุมเสียงพรรคแกนนำได้ กลายเป็น “นายกฯขาลอย” อาจถูกโค่นได้โดยง่าย.