ฝ่ายค้านที่มี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภา ขี่ม้าเลียบค่าย รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่ง ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน รวบรวมสมัครพรรคพวกทั้งฝ่ายค้านฝ่ายรัฐบาลประเมินสถานการณ์ของรัฐบาลเป็นนาที ก่อนที่จะตัดสินใจ ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เป็นรายบุคคล ในจำนวนนี้ ต้องมีชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะถ้าโค่น พล.อ.ประยุทธ์ ลงได้ รัฐบาลก็จะมีการเปลี่ยนแปลง การเมืองก็จะมีการเปลี่ยนแปลงทันที
ที่ฝ่ายค้านนำร่องไว้ 4 ประเด็น ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2566 ถ้าไม่ผ่าน นายกฯต้องยุบสภาหรือลาออก ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมืองและว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นกฎหมายรัฐบาลและมีเรื่องเกี่ยวกับการเงินด้วย ถ้าไม่ผ่านก็ต้องยุบสภาหรือลาออก การยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน ถ้าคะแนนไม่ไว้วางใจเกินกว่า กึ่งหนึ่ง นายกฯต้องยุบสภาหรือลาออก แต่ระหว่างที่การอภิปรายไม่เสร็จสิ้นจะลาออกไม่ได้ นอกจากยุบสภาเท่านั้น
สุดท้ายก็คือ การดำรงตำแหน่งนายกฯครบ 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญ จะต้องพ้นจากตำแหน่ง เรื่องนี้อยู่ที่การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็จริง แต่ระหว่างการวินิจฉัยของศาล นายกฯต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ช่องว่างตรงนี้จึงต้องมีนายกฯรักษาการ ตามอันดับแล้ว พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะรองนายกฯคนที่ 1 จะต้องทำหน้าที่รักษาการ
หรืออาจจะตายน้ำตื้นด้วยกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงินอื่นๆ เช่น กฎหมายของรัฐบาลว่าด้วย การเพิ่มเงินให้กับผู้สูงอายุอีก คนละ 100 บาท กฎหมายไม่ผ่านก็ต้องยุบสภาหรือลาออกเช่นกัน
ปัญหาโรคแทรกซ้อนในขณะนี้ก็คือ มีกระแสที่จะชู พล.อ.ประวิตร เป็นนายกฯ ไม่ว่าจะเกิดสถานการณ์ใดก็ตาม ซึ่งเป็นเรื่องปกติทางการเมือง ถ้าจะต้องคิดกันล่วงหน้าว่าใครคือนายกฯของประเทศในยามฉุกเฉิน ที่จริงไม่ใช่นายกฯสำรอง แต่ต้องทำหน้าที่นายกฯตัวจริงกับนายกฯรักษาการที่เป็นไปตามบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
...
ประเด็นนี้ ถ้าพลังประชารัฐ ที่เป็นแกนนำรัฐบาล มีบัญชีสำรองนายกฯเอาไว้ 2-3 คน ตามที่รัฐธรรมนูญเปิดช่องไว้ให้ ก็ไม่มีปัญหา แต่ไปใส่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เอาไว้คนเดียวก็เลยมีปัญหา ถ้าพลังประชารัฐเป็นแกนนำรัฐบาลแล้วไปยกตำแหน่งประมุขฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารให้กับพรรคร่วมรัฐบาลอื่นจนหมดไส้หมดพุง ก็มีปัญหาในการบริหารจัดการอีก
การเมืองไทยที่ยุ่งเป็นฝอยขัดหม้อทุกวันนี้ก็เพราะความหวาดระแวง
ระแวงว่า จะมาชิงอำนาจ ระแวงว่าจะเก่งกว่า เหนือกว่า ระแวงว่าจะเสียผลประโยชน์ ระแวงว่าจะมามีอำนาจ มีบารมีมากกว่า ทั้งๆที่อำนาจเหล่านี้เป็นอำนาจของประชาชนเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ
สาม ป.จะเหลือ สอง ป.หรือ ป.เดียวไม่ใช่สาระสำคัญของ การบริหารชาติบ้านเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ แต่การสร้างความสงบสุข การกินดีอยู่ดี มีความสามัคคีในครรลองประชาธิปไตย
คือหัวใจของการเมืองและการปกครอง.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th