พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่เมื่อใด จะครบ 8 ปี ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเมื่อใด เป็นปัญหาที่ถกเถียงกันมาอย่างกว้างขวางและยาวนาน ในที่สุดพรรคร่วมฝ่ายค้านก็ออกแถลงการณ์ว่ารัฐบาลสิ้นสภาพ และขีดเส้นตายให้ปฏิบัติหน้าที่ไม่เกินเดือนสิงหาคมนี้ เพราะมีวิกฤติรอบด้าน
ทั้งวิกฤติผู้นำ นายกรัฐมนตรีขาดศักยภาพ ขาดความน่าเชื่อถือ สร้างความทุกข์ยากให้แก่ประชาชนแสนสาหัส มีวิกฤติการเมือง เป็นเผด็จการในคราบประชาธิปไตย สร้างประวัติศาสตร์ที่เลวร้าย ทิ้งไว้ให้ประเทศอย่างยาวนาน ด้วยรัฐธรรมนูญ ฉบับวางยาพิษ แสดงว่าฝ่ายค้านถือว่า 8 ปี ของนายกฯจะสิ้นสุดในเดือนสิงหาคม
ประเด็น 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จะเริ่มต้นและสิ้นสุดลงเมื่อใด ดร.เจษฎ์ โทณวณิก นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ ผู้ซื่อสัตย์และยึดมั่นในหลักวิชาการได้ชี้แจงไว้หลายครั้งว่ารัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจนทั้งมาตรา 158 ให้ “ดำรงตำแหน่ง รวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่” แบบนี้ชัดแจ้งหรือไม่
เท่านั้นยังไม่พอ ยังตอกยํ้าด้วยมาตรา 264 ที่ระบุว่า “ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ” เป็นการยืนยันชัดเจนว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 และจะครบ 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565”
แต่ฝ่ายรัฐบาล ซึ่งอาจจะยังมี “ตัณหา” หรือความอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯเกิน 8 ปี จึงเปิดประเด็นว่า พล.อ.ประยุทธ์เริ่มเป็นนายกฯเมื่อใด อาจตีความได้ 3 แนวทาง แนวทางที่ 1 เริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2557 ตามความเป็นจริง ทางที่ 2 เริ่มวันที่ 6 เมษายน 2560 วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งไม่เป็นความจริง
...
ไม่มีรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าให้นายกฯเข้ารับตำแหน่ง ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ส่วนแนวทางที่ 3 ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่เข้ารับตำแหน่งครั้งที่ 2 เมื่อเดือนมิถุนายน สามารถอยู่ต่อได้ถึงปี 2570 รวมเบ็ดเสร็จ 13 ปี เป็นการตีความแบบ เลี่ยงบาลี ไม่ตรงกับความจริง เพราะเป็นนายกฯสมัย 2 ไม่ใช่ครั้งแรก
ไหนๆก็เป็นนายกฯมาเกือบ 8 ปีแล้ว อยากขอวิงวอน พล.อ.ประยุทธ์ได้ยึดมั่นในคำถวายสัตย์ปฏิญาณ โดยเฉพาะตอนที่ว่า “จะรักษาไว้และปฏิบัติตาม ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ” เพื่อล้างบาปที่ผ่านมา เช่น การใช้กำลังทหารทำรัฐประหาร ยึดอำนาจรัฐบาลเลือกตั้ง และฉีกทิ้งรัฐธรรมนูญ.