คณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่างทรูและดีแทค ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขอให้ชะลอการรวมธุรกิจระหว่างทั้งสองบริษัทคือ ทรูกับดีแทค เพื่อศึกษาผลกระทบผลดีผลเสียให้รอบคอบ จากบริบทที่ว่า รัฐต้องมีอำนาจในการอนุญาตหรือไม่อนุญาตการรวมธุรกิจ และกำกับดูแลกระบวนการการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม เพื่อจะปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

มีผลสรุปดังนี้ คือ ด้านผลกระทบต่อตลาดโทรคมนาคม พบว่า หากมีการรวมธุรกิจครั้งนี้ จะทำให้ HHI หรือดัชนีการกระจุกตัวอุตสาหกรรมสูงขึ้นมากกว่า 2,500 จุด เปลี่ยนแปลงจากเดิม กว่า 1,000 จุด ส่งผลต่อสภาวะการแข่งขัน และเสี่ยงต่อการใช้อำนาจเหนือตลาด แสดงถึงสัญญาณอันตรายในการลดการแข่งขันอย่างเสรี

ด้านกฎหมาย มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ได้กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาตที่ประสงค์จะทำการรวมธุรกิจกับผู้รับใบอนุญาตรายอื่นต้องรายงานต่อ เลขาธิการ กสทช. ไม่น้อยกว่า 90 วัน ก่อนการดำเนินการ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในธุรกิจประเภทเดียวกัน ด้วยการเข้าซื้อหุ้นเกินกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ

นอกจากนี้ยังอยู่ในระหว่างการเปลี่ยนผ่านระหว่าง กสทช.ชุดเก่าและชุดใหม่ จึงต้องพิจารณาให้รอบด้านก่อน เพราะอาจเกิดการผิดพลาดในการตัดสินใจได้ ทั้งประเด็นการคัดเลือกที่ปรึกษาอิสระ ข้อมูลรายงานผลการศึกษาผลกระทบต่างๆ ตลอดจนการกำหนดมาตรการของหน่วยงานที่กำกับดูแล ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนในการดำเนินการ

ปรากฏว่า เรื่องดังกล่าว กสทช.ชุดใหม่ที่มี นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ เป็นประธานได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการด้านต่างๆ ทั้งกฎหมาย ผลกระทบ ด้านเศรษฐศาสตร์ การคุ้มครองผู้บริโภค เทคโนโลยี ขึ้นมาศึกษาทุกมิติและจัดให้มีการประชุมกลุ่มจากภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมรวมถึงประชาชนทั่วไปด้วย เพื่อพิจารณาเรื่องนี้ให้รอบด้านอีกครั้งหนึ่งโดยให้ชะลอการอนุญาตออกไปก่อน

...

แล้วก็มาถึงเรื่องร้อนๆล่าสุด ที่ฝ่ายค้าน ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย จะจับมาเป็นประเด็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วย เรื่องนี้ปรากฏว่า มี ส.ส.รัฐบาล พิเชษฐ สถิรชวาล ออกมาร่วมวงในฐานะอดีตประธานบอร์ดการประปาส่วนภูมิภาค ที่เห็นความไม่ชอบมาพากล

มีการอ้างถึงบริษัทวงษ์สยาม ที่ได้สัมปทานระบบท่อส่งน้ำในพื้นที่อีอีซี หรือเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เดิมเป็นการบริหารจัดการของอีสท์วอเตอร์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของการประปาส่วนภูมิภาคที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรับผิดชอบการบริการจัดการน้ำในอีอีซีโดยเฉพาะ แต่ยุคนี้กลับเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขให้เอกชนเข้ามาประมูลแข่งขัน ซึ่งเรื่องนี้อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงการคลัง ที่พาดพิงไปถึงสันติ พร้อมพัฒน์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะ รมช.คลังด้วย โกโซบิ๊กแน่นอน.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th