ความจริงย่อมหนีความจริงไม่พ้น การเมืองการปกครองในบ้านเราไม่มีทางเลือกมากนัก การโหยหาประชาธิปไตยเต็มใบ ในสถานการณ์ปัจจุบัน กลายเป็นดาบสองคม ที่สร้างความขัดแย้งมากกว่าจะนำบ้านเมืองไปสู่ความสงบสุข ที่ผ่านมาประเทศไทยตกที่นั่งวิกฤติการเมืองในรูปของ ตัวแอล คือยังไม่มีท่าทีว่าจะโงหัวขึ้นจาก กับดักการเมือง ไม่ว่าจากสาเหตุการชิงอำนาจหรืออำนาจที่เหนือรัฐธรรมนูญ และ กับดักจากกติกาของรัฐธรรมนูญ ทำให้วิกฤติประเทศทับซ้อนไปเรื่อยๆจนกลายเป็นดินพอกหางหมู

ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย เป็นเป้าหมายทางการเมืองที่สำคัญ จากวิกฤติการเมืองกลายเป็นวิกฤติประเทศ ไม่ว่าจะได้นายกฯมาจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด เรื่องก็ไม่ยุติ เพราะรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้เกิดความขัดแย้ง และ นักการเมือง ไม่เคารพกติกาตามรัฐธรรมนูญ ชิงอำนาจทางการเมืองระหว่าง อำนาจตามวิถีประชาธิปไตยและวิถีของเผด็จการทหาร ผลัดกันแพ้ชนะไม่สะเด็ดน้ำ

วันนี้ก็เช่นกัน การเมืองกำลังถึงทางตัน จาก กับดักของรัฐธรรมนูญ เริ่มจาก ความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาล ที่เป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำและไม่มีอำนาจการต่อรอง ไปสู่การไม่มีเสถียรภาพของผู้นำประเทศ ที่ไม่มีเสียงสนับสนุนตามวิถีของประชาธิปไตย ประกอบกับปัญหาต่างๆที่เป็นวิกฤติประเทศกำลังส่งผลกระทบทั้งเศรษฐกิจปากท้องและความมั่นคงของประเทศ ไปจนถึง ประสิทธิภาพของผู้บริหารประเทศ

และวิกฤติคุณสมบัติของผู้นำประเทศ

ตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไป ปัญหาในสภาการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล การอภิปรายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ไปจนถึงการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย คุณสมบัติของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯติดต่อกันครบ 8 ปี ทำให้ขาดคุณสมบัติการเป็นนายกฯภายในเดือน ส.ค.นี้หรือไม่ จะทำให้ประเทศต้องเข้าสู่กับดักการเมืองอีกครั้ง รวมทั้งสารพัดม็อบที่จะออกมาไล่รัฐบาลโดยพร้อมเพรียงกัน

...

โฟกัสไปที่ ผู้นำประเทศ หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองขึ้นมา ชื่อของ พล.อ.ประวิตร ซึ่งเป็นข้อเสนอจากคนนอกและคนในการเมือง วูบแรกอาจจะขัดกับความรู้สึกของคนทั่วไป เพราะภาพลักษณ์ของ พล.อ.ประวิตร ที่ถูกดิสเครดิตทางการเมืองนับตั้งแต่นาฬิกาเพื่อนเป็นต้นมา รวมทั้งอีกหลายเรื่อง อาทิ คดีโรฮีนจาที่เป็นกระแสอยู่ในตอนนี้ด้วย

แต่ถ้าพิจารณาด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริงที่จะตามมา ถ้า พล.อ.ประยุทธ์จะต้องลงจากตำแหน่งจริงๆ จะไว้วางใจให้ใครมาเป็นนายกฯต่อไปมากที่สุด ในจำนวนพรรคร่วมรัฐบาล ใครมีบารมีเหมาะสมที่จะเป็นนายกฯมากที่สุด อนุทิน ชาญวีรกูล, จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หรือหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลคนอื่น หรือการลงมติเลือกนายกฯในสภา 250 ส.ว. จะลงมติเลือกนายกฯได้อย่างราบรื่นหรือไม่ สุดท้ายก็ต้องเลือกนายกฯมาจากคนนอกที่ทั้งสองขั้วการเมืองไว้ใจด้วย เข้ามาบริหารจัดการเป็นรัฐบาลในช่วงวิกฤติให้สะเด็ดน้ำได้ จากนั้นประชาธิปไตยเริ่มต้นกันใหม่แบบแฟร์ๆ

จะแก้ปัญหาวิกฤติประเทศก็ต้องเปิดใจให้กว้างเข้าไว้.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th