สวนดุสิตโพล ชี้ เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. "ชัชชาติ" ยังนำ "อัศวิน-ดร.เอ้" แต่มองคะแนนจากโพลไม่มีผลในการตัดสินใจ จับตา กลุ่มคนยังไม่ตัดสินใจ น่าส่งผลภาพใหญ่การเมืองไทยไม่น้อย

วันที่ 1 พ.ค. 65 สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สรุปผลการสำรวจ : การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในสายตาคนกรุงเทพฯ สำรวจความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯ เฉพาะผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวนทั้งสิ้น 2,522 คน (สำรวจด้วยการเก็บข้อมูลภาคสนามและออนไลน์) ระหว่างวันที่ 12-28 เมษายน 2565

พบว่า คนกรุงเทพฯ จะไปใช้สิทธิเลือกตั้งแน่นอน ร้อยละ 82.20 ส่วนใหญ่ติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จากโทรทัศน์ ร้อยละ 63.56 รองลงมา คือ ป้ายโปสเตอร์ ป้ายประกาศ ป้ายหาเสียง ร้อยละ 56.82 โดยให้ความสนใจผู้สมัครอิสระ ร้อยละ 56.11 รองลงมาคือ ผู้สมัครที่สังกัดพรรคการเมือง ร้อยละ 29.58 ทั้งนี้ จะตัดสินใจเลือกผู้ว่าฯ จากนโยบาย ร้อยละ 58.37 รองลงมาคือ ขยัน ตั้งใจทำงาน ร้อยละ 50.32 การหาเสียงของผู้สมัครในปัจจุบันมีผลต่อการตัดสินใจมาก ร้อยละ 43.54 ณ วันนี้ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ที่ชื่นชอบ คือ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ร้อยละ 39.94 รองลงมาคือ อัศวิน ขวัญเมือง ร้อยละ 14.16 สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ร้อยละ 13.37 และมองว่า คะแนนนิยมจากการทำโพลสำนักต่างๆ ไม่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกผู้ว่าฯ กทม. ร้อยละ 64.79

นางสาวพรพรรณ บัวทอง นักวิจัย สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผย คนกรุงเทพฯ ยังคงให้ความสนใจผู้สมัครอิสระมากกว่าผู้สมัครที่สังกัดพรรคการเมือง โดยเฉพาะคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่คะแนนนำมาอย่างต่อเนื่อง ผลโพลของสวนดุสิตโพลเมื่อธันวาคม 2564 พบว่า คนกรุงเทพฯ จะเลือกผู้สมัครอิสระ ร้อยละ 38.65 และเมื่อเทียบกับผลโพลครั้งนี้ผู้สมัครอิสระยังคงครองใจคนกรุงเทพฯ ถึงร้อยละ 56.11 ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผู้สมัครที่สังกัดพรรคการเมืองยังไม่ตรงใจมากนัก ที่สำคัญในช่วง 9 ปีที่ไม่ได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ก็ได้มีกลุ่ม First Time Voter เกือบ 7 แสนคน ซึ่งผลโพลครั้งนี้เป็นคนกลุ่มใหญ่ที่ยังไม่ตัดสินใจ ดังนั้นก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร เพราะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. น่าจะส่งผลต่อภาพใหญ่การเมืองไทยได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

...

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สรศักดิ์ มั่นศิลป์ รองคณบดีโรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผย จากผลของสวนดุสิตโพล คนกรุงเทพฯ สนใจจะไปใช้สิทธิเลือกตั้งสูงถึง ร้อยละ 82.20 แต่เมื่อพิจารณาจากการ ไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เมื่อปี 2556 คาดว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะมีผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าครั้งที่ผ่านมา แต่ก็ไม่น่าจะถึงร้อยละ 80 โดยสื่อต่างๆ จะมีบทบาทมากในการตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง การสังกัดพรรคการเมืองของผู้สมัครมีผลต่อการตัดสินใจค่อนข้างน้อย การทำงานของผู้ว่าฯ กทม.ที่มาจากผู้สมัครอิสระไม่น่าจะมีผลต่อการทำงานกับ ส.ก. เนื่องจากทั้งสองฝ่ายต้องทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะของคนกรุงเทพฯ อยู่แล้ว การเลือกตั้งครั้งนี้ค่อนข้างเน้นความเป็นตัวตนของผู้สมัคร โดยสังเกตได้ว่าการที่คุณชัชชาติได้เป็นผู้ว่าฯ โพลแทบทุกสำนัก อันเป็นการสะท้อนว่าคนกรุงเทพฯ ต้องการ “Superhero” ที่จะมาแก้ไขปัญหาให้เขาได้ทุกอย่าง ผลโพลที่ออกมาย่อมมีส่วนชี้นำการตัดสินใจของประชาชนอยู่บ้าง ซึ่งท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่ประชาชนจะได้จากการเลือกตั้งครั้งนี้คือเรื่องจิตสำนึกต่อการมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตย.