“พระรามตู่” ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป่าปากถอนหายใจไปได้อีกเฮือก หลังเสร็จศึกอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152
เท่าที่ดูบรรยากาศโดยรวมของการอภิปรายเป็นไปด้วยดี มีบ้างที่จะกระทบกระทั่งกัน แต่ภาพรวมถือว่าพรรคฝ่ายค้านทำการบ้านมาใช้ได้
มีหลายประเด็นที่ชวนให้สังคมต้องติดตามจับตากันต่อ เกี่ยวกับการใช้อำนาจของรัฐบาลที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย หรือทำให้ชาติบ้านเมืองเสียประโยชน์ได้
โดยเฉพาะประเด็น เหมืองทองอัครา ที่ “ส.ส.น้ำ” จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด เพื่อไทย ยกขึ้นมาชำแหละกันกลางสภา พร้อมกับ ทักท้วงด้วยความเป็นห่วง ว่าประเทศไทยอาจต้องเสียค่าโง่อีกครั้ง
ตรงกับที่ผมเคยเขียนถึงเรื่องนี้ ตอนที่รู้ข่าวบริษัทคิงส์เกตฯ แถลงการณ์ต่อตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย ว่ารัฐบาลไทยได้อนุมัติสัมปทานบัตรตามที่เคยขอไว้ 4 แปลง และมีรายการที่เจรจากัน 11 รายการ
ขอสรุปพอสังเขปต่อข้อทักท้วงของ “ส.ส.น้ำ จิราพร” ที่เห็นว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อนุญาโตตุลาการฯ เลื่อนการชี้ขาดมาไม่ต่ำกว่า 4 ครั้งแล้ว ทั้งที่การไต่สวนพยานหลักฐาน เสร็จสิ้นตั้งแต่ 12 ก.พ.2563 แต่มีการขอเลื่อนไปเรื่อยๆ ใครเป็นคนขอเลื่อน เลื่อนเพราะอะไร เลื่อนแล้วใครได้ประโยชน์ ใครเสียประโยชน์
มีข้อสังเกตว่าทุกครั้งที่มีการเลื่อนคำชี้ขาด ประเทศไทยจะทยอยคืนสิทธิการทำเหมือง เพิ่มพื้นที่สำรวจแร่ทองคำ และให้สิทธิอื่นๆ เกือบทุกครั้ง
ไม่เคยมีการชี้แจงว่าบริษัทคิงส์เกตฯฟ้องร้องประเทศไทยในประเด็นใดบ้าง เรียกร้องค่าเสียหายทั้งหมดเท่าไหร่ หรืออาจจะเสียหายมากกว่า 3 หมื่นล้านบาท ตามที่หลายฝ่ายประมาณการไว้
การเปิดทางให้บริษัทคิงส์เกตฯ นำผงเงินผงทองคำที่ถูกอายัดไว้ออกขาย การให้สิทธิสำรวจแร่เกือบ 4 แสนไร่ การให้สิทธิประทานบัตร 4 แปลง เป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาประนีประนอม แม้คดียังไม่ถึงที่สุดหรือไม่
...
นอกจากจะให้ทำเหมืองต่อ ยังให้สำรวจเหมืองเพิ่มอีก 4 แสนไร่ และคาดว่าที่รออนุญาตอีก 6 แสนไร่ ก็คงจะอนุมัติเพิ่มเติม เท่ากับใช้สมบัติชาติเฉียด 1 ล้านไร่ เพื่อสังเวยค่าโง่ จากการใช้ ม.44 สั่งปิดเหมืองทองอัครา
สิ่งที่ไทยเสียให้คิงส์เกตฯ อาจมหาศาลมากกว่าเม็ดเงินและทองคำหากต้องแพ้คดีซะอีก
ที่ต้องเจรจาประนีประนอมยอมความ เป็นเพราะไม่อยากให้มีการตัดสินการใช้ ม.44 ใช่หรือไม่
เพราะหากมีการชี้สถานะทางกฎหมายของ ม.44 อาจต้องลาก พล.อ.ประยุทธ์ และคณะรัฐประหาร ขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ
ก็มีคำแก้ต่างจาก พล.อ.ประยุทธ์ เนื้อหาส่วนใหญ่ก็คือ การเท้าความ ถึงปัญหาในอดีต ที่ทำให้ตัวเองต้องมาคอยไล่แก้ปัญหาจนทุกวันนี้
การต่อใบอนุญาต การให้สิทธิประทานบัตรสำรวจอีก 4 แปลง เป็นการอนุมัติตามขั้นตอน ไม่เกี่ยวกับการเจรจาประนีประนอมยอมความ ที่เกิดขึ้นโดยคำแนะนำของคณะอนุญาโตตุลาการ
แล้วก็สรุปตัดบทตามฟอร์ม กล่าวหาคนที่นำข้อมูลมาอภิปราย อยากให้ประเทศชาติเสียหาย อยากให้นายกฯเสียหาย อยากให้มีความผิดในการใช้ ม.44
เรื่องนี้ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องมีคำตอบให้ประชาชน ไม่ว่าจะยื้อเวลาการอ่านคำชี้ขาดคดีที่บริษัทคิงส์เกตฯ ไปนานแค่ไหน สุดท้ายก็ต้องมีข้อสรุปออกมา
ถึงวันนั้นผู้คนก็จะถึงบางอ้อ ตาสว่างกับการใช้อำนาจ ม.44 ของรัฐบาล คสช.
หากวันไหนไร้ซึ่งอำนาจ “พระรามตู่” อาจงอมพระรามก็ได้.
เพลิงสุริยะ